นางรุ่ง มัลลิกะมาส รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า แม้ว่าภาพรวมของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง จะกระทบมาถึงเศรษฐกิจไทยที่ปัจจุบันยังมีการชะลอตัวอยู่ ซึ่งได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะความไม่แน่นอนของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังไม่สามารถเจรจาหาข้อตกลงกันได้ ทำให้ภาคส่งออกของไทยชะลอตัวตามไปด้วย
อย่างไรก็ดี มองว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ จะได้รับแรงหนุนจากการบริโภคในประเทศที่ฟื้นตัวขึ้น จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่เน้นกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ ผ่านมาตรการชิม ช้อป ใช้ ซึ่งเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ให้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ขณะที่มาตรการด้านนโยบายการเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายมากขึ้น หลังจากในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ธปท.มีความเข้มงวดในการรักษาเสถียรภาพทางการเงินค่อนข้างมาก ผ่านมาตรการ Macro Prudential ที่ควบคุมการปล่อยสินเชื่อรายย่อย ทั้งสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต และที่อยู่อาศัย โดยปัจจุบันได้เห็นการผ่อนคลายเกณฑ์ LTV สำหรับผู้ที่ซื้อที่อยู่อาศัยออกมา ประกอบกับ ธปท.ยังดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติมด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว 1 ครั้ง และคาดว่ามีโอกาสที่จะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในการประชุมช่วงท้ายปีนี้ เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยไม่ให้ชะลอตัวลงไปมาก
นางรุ่ง กล่าวว่า ธนาคารฯ ยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย (GDP) ในปีนี้ขยายตัวที่ 3% โดยมาจากปัจจัยหนุนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ที่จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ในขณะที่เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นแม้ว่าจะกระทบต่อภาคการส่งออก แต่มองว่าเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการที่สามารถลงทุนขยายกิจการด้วยการนำเข้าวัตถุดิบ ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์จากต่างประเทศได้ในราคาต้นทุนที่ถูกลง โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการในการแข่งขันให้ดีขึ้น