นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่ากลุ่มธุรกิจบริหารทรัพย์สิน รักษาการผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อธิบดีกรมขนส่งทางราง และ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรว่า ที่ประชุมมีมติให้คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) จัดประชุมในวันที่ 27 ก.ย. 62 เวลา 16.00 น. และให้ทำหนังสือแจ้งให้ผู้ยื่นข้อเสนอมาลงนามในสัญญาในวันที่ 15 ต.ค. 62
"คณะกรรมการได้ยืนยันกับผมว่าได้ให้เวลามาพอสมควรแล้ว ได้มีการรับเงื่อนไขต่างๆ ที่จะรับได้ภายใต้กรอบระเบียบว่าด้วยการจัดซื้อภาครัฐ และกรอบร่วมลงทุนทุกอย่าง ทุกประการ วันนี้ไม่ต้องมีอะไรเจรจาอีกแล้ว วันที่ 15 ตุลาคมนี้ต้องมีการเซ็นสัญญากัน การกำหนดนี้เป็นสิทธิ์ของคณะกรรมการคัดเลือก"นายอนุทิน กล่าว
ทั้งนี้ หากกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ซีพี) และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) มาลงนาม ให้ดำเนินการตามสัญญา แต่หากไม่ลงนามในสัญญาจะถูกริบหลักประกันซอง และอาจถูกพิจารณาเป็นผู้ทิ้งงานตามระเบียบของทางราชการ
และหากกลุ่ม CPH ไม่มาลงนาม คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) จะเชิญผู้ยื่นข้อเสนอรายที่ 2 คือ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ มาเจรจาต่อไป
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า หากไม่ดำเนินการตามสัญญา ภายในวันที่ 7 พ.ย.จะหมดระยะเวลายืนราคา ถ้าภาครัฐไม่สามารถเซ็นสัญญาได้ ความผิดจะตกกับภาครัฐจะเกิดความเสียหายมหาศาล ทางเดียวที่ทำได้คือ ต้องมาลงนามตามสัญญา พร้อมย้ำว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะมีโครงการไหนสามารถส่งพื้นที่ได้ครบ 100% ทันที เพราะพื้นที่ไหนมีปัญหาสามารถมาขอขยายเวลาได้ ซึ่งโครงการส่วนใหญ่ทั้งของภาครัฐและเอกชนไม่มีโครงการใดแล้วเสร็จได้ทันตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้
"เราอยากให้ผู้ชนะที่ 1 ได้งาน ถ้าไม่มาลงนามมีผลต่อเนื่องเยอะแน่ และอะไรตามที่เกิดความเสียหายต่อจากนั้นก็ยังคงต้องรับผิดชอบในทางแพ่งต่อไป ทางออกไม่ค่อยมี นอกจากรีบมาลงนามและช่วยกันทำงานโดยเร็ว"นายอนุทิน กล่าว
ด้านนายศักดิ์สยาม กล่าวว่า จากที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ ได้ให้เร่งพิจารณาหาข้อสรุปในการดำเนินโครงการรถไฟความความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ในวันนี้คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้เข้าชี้แจงอธิบายรายละเอียดขั้นตอนการพิจารณาการประมูล ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ ยืนยันว่าได้ดำเนินการตามกรอบที่กำหนดไว้ในเอกสารการคัดเลือกเอกชน หรือ REQUEST FOR PROPOSAL (RFP) อย่างครบถ้วนแล้ว
"รองนายกฯ อนุทิน เห็นว่า โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ มีผลต่อความเชื่อมมั่นกับนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุน จึงหวังว่า วันที่ 15 ต.ค. 62 จะมีการลงนามสัญญาโครงการนี้ อะไรที่อยู่ในระเบียบ ข้อกฎหมาย และ RFP ที่รัฐต้องดำเนินการ รัฐจะดำเนินการให้ ไม่ต้องกังวลว่ารัฐจะเอาเปรียบหรือกลั่นแกล้งเอกชน หรือมีการเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด ซึ่งเงื่อนไข RFP ได้ให้เอกชนได้ศึกษาก่อนที่จะตัดสินใจยื่นประมูลแล้ว"นายศักดิ์สยาม กล่าว
ในการประมูลมี RFP กำหนดรายละเอียดอย่างครบถ้วน โดยให้เอกชนยื่นข้อเสนอ ซองที่ 1 เป็นคุณสมบัติทั่วไป ซองที่ 2 เป็นข้อเสนอด้านเทคนิค เรื่องโครงสร้างองค์กร ผู้ร่วมทุน แผนงานก่อสร้าง การจัดการต่างๆ ซึ่งมีเงื่อนไขกำหนดแนวทางการดำเนินงานและความสอดคล้องของเอกสารด้านเทคนิคงานโยธาอย่างไร และมีหัวข้อย่อยว่าให้เสนอแนวทางและวิธีการเตรียมงานก่อนเริ่มการก่อสร้างให้เป็นไปตามข้อกำหนดของ รฟท. และกรอบข้อกำหนดรายละเอียดเทคนิค โดยต้องมีข้อกำหนดดังนี้ คือ การเตรียมพื้นที่ก่อสร้าง การประสานงานหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง , แนวทางและการเตรียมการประสานงานก่อสร้าง,การเตรียมเอกสาร วิธีการทดสอบการก่อสร้าง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคด้วย
ซองที่ 3 เป็นข้อเสนอด้านการลงทุนและผลตอบแทน ส่วน ซองที่ 4 ข้อเสนออื่นๆ ที่จะเพิ่มประสิทธิภาพของโครงการที่จะเป็นประโยชน์ต่อการให้บริการรถไฟ โดยทั้งหมดคณะกรรมการคัดเลือกฯได้พิจารณาสมบูรณ์แล้ว
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 30 ก.ย.นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะรายงานความคืบหน้าการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินต่อที่ประชุมด้วย
สำหรับกรณีที่เรียกรายที่ 2 มาเจรจาแล้ว หากสรุปราคาสูงกว่าที่รายที่ 1 เสนอ ส่วนต่างที่เกิดขึ้นนั้น ผู้ชนะประมูลรายที่ 1 จะต้องรับภาระไป ซึ่งเป็นไปตามระเบียบพัสดุการจัดซื้อจัดจ้าง เพราะรัฐคงจะไม่สามารถรับภาระที่เพิ่มขึ้นได้
อนึ่ง โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มี 2 กลุ่มเข้าร่วมประมูล โดยกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ประเทศไทย), บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) , China Railway Construction Corporation Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน), บมจ. ช.การช่าง (CK), บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)
ส่วนอีกกลุ่ม คือ กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS), บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC), บมจ. ราช กรุ๊ป (RATCH)