(เพิ่มเติม1) สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ส.ค.หดตัว 4.4% จากผลกระทบศก.โลกชะลอตัวต่อเนื่อง

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 24, 2019 11:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอดิทัต วะสีนนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ส.ค.62 อยู่ที่ระดับ 100.58 หดตัว 4.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับผลกระทบจากแนวโน้มเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอตัวต่อเนื่อง ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนส.ค.62 อยู่ที่ 65.75%

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ดัชนีฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง มาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน และเงินบาทแข็งค่าส่งผลให้การส่งออกชะลอตัวลง

"ทิศทางในอนาคตยังไม่ค่อยสดใส ยังบอกไม่ได้ว่าตัวเลขเดือนนี้แย่สุดแล้ว ต้องรอดูอีกที ส่วนการปรับเป้าจะพิจารณาเป็นรายไตรมาส ซึ่งไตรมาสก่อนเพิ่งจะปรับลดไป 0.5-1% ตอนนี้ยังคงเป้าหมายเท่าเดิม" นายอดิทัต กล่าว

โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนี MPI เดือนส.ค. ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, ผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน และน้ำตาล สาเหตุหลักมาจากผลกระทบจากเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง และคำสั่งซื้อจากตลาดต่างประเทศชะลอตัวลง ส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) หดตัวลง 9.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ส่วนอุตสาหกรรมที่การผลิตยังขยายตัวดี ได้แก่ Hard disk drive, อาหารแช่แข็ง, น้ำดื่ม, สุรา และน้ำมันปาล์ม

โดย Hard disk drive ขยายตัว 12.66% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้ผลิตบางรายได้รับคำสั่งผลิตเพิ่มขึ้น หลังจากปิดฐานการผลิตที่ประเทศมาเลเซียตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย.62 รวมถึงการลงทุนในเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และการพัฒนา Hard disk ความจุสูงที่ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น

อาหารทะเลแช่แข็ง ขยายตัว 14.04% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์ปลา กุ้ง และปลาหมึกแช่แข็ง ที่ได้รับคำสั่งซื้อจากตลาดในประเทศ และผู้ผลิตได้ขยายตลาดไปสู่ตลาดการค้าขายปลีกสมัยใหม่ และร้านอาหารขนาดใหญ่ รวมถึงเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายในตลาดออนไลน์ในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทานมากขึ้น

น้ำดื่ม ขยายตัว 9.94% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยขยายตัวเพิ่มขึ้นในเกือบทุกผลิตภัณฑ์ ยกเว้นน้ำแร่ เนื่องจากในปีก่อนผู้ผลิตบางรายปิดซ่อมบำรุงใหญ่ ประกอบกับรัฐเตรียมขึ้นภาษีความหวานรอบที่ 2 ซึ่งจะบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค.62 รวมถึงกระแสการดูแลสุขภาพของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น

สุรา ขยายตัว 25.16% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์สุราและสุราผสม เนื่องจากผู้ประกอบการได้ทำการตลาดโดยได้ปรับภาพลักษณ์ของสินค้าและออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งมีการตอบรับที่ดี ทำให้มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น รวมถึงการวางแผนขยายตลาดไปต่างประเทศ โดยเฉพาะการส่งออกสุราผสมไปยังประเทศเวียดนาม เมียนมา ฟิลิปปินส์ และมีแผนจะขยายตลาดไปประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

น้ำมันปาล์ม ขยายตัว 9.89% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบที่สภาพภูมิอากาศส่งผลให้ต้นปาล์มออกดอกและติดผลเป็นจำนวนมาก เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลปาล์มที่มีความเข้มข้นของน้ำมันเพิ่มขึ้น ทำให้ผลิตน้ำมันปาล์มดิบได้จำนวนมาก รวมถึงนโยบายภาครัฐที่ได้สนับสนุนให้มีการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วประเภท B7, B10, B20 และ B100 และการผลิตไฟฟ้า

สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ นายอดิทัต คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น 3-5 เดือน ขณะที่สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคอีสานที่ส่งผลให้นาข้าวได้รับความเสียหายราว 2 ล้านไร่นั้นจะส่งผลกระทบต่อกำลังการซื้อ แต่ไม่กระทบต่ออุตสาหกรรมอาหาร

ส่วนมาตรการระยะกลาง และระยะยาวนั้น ทุกภาคส่วนกำลังเร่งกระตุ้นการลงทุนและการส่งออก โดยมีการไปโรดโชว์ที่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ขณะเดียวกันก็ต้องเร่งปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมจากเดิมที่ขายวัตถุดิบเป็นการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ