นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า การจัดสรรคลื่นความถี่ยังเป็นไปตามแผนทั้งหมด โดยจะมีการจัดสรรคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์, 700 เมกะเฮิรตซ์ และ 26-28 กิกะเฮิรตซ์ เริ่มกระบวนการประมูล 2563 ซึ่งถ้าเป็นไปตามนี้ จะสามารถเปิดใช้บริการได้ปลายปี 2563 ตามโรดแมพที่กำหนดไว้
"ประเทศอื่นขยับโรดแมพมาเร็วขึ้น เดิมคิดว่า 5G สามารถใช้งานได้ปลายปี 2563 ต้นปี 2564 จะสามารถเปิด 5G บางพื้นที่ก่อน เช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โลจิสติกส์ แต่จากการประชุม ATRC เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ สิ่งที่รายงานต่อที่ประชุม จะเปิดเชิงพาณิชย์ในเดือน มิ.ย.-ก.ค.63 ส่วนญี่ปุ่น จีน จะเปิดในงานโอลิมปิกเดือน ก.ค.63 ดังนั้นจะต้องขยับโรดแมพขึ้นมาเร็วขึ้น ทำเกิน ดีกว่าทำขาด หากขยับได้ ให้เริ่มใช้งานได้ ก.ย.-ต.ค.63 หมายความว่าประเทศเราเดินหน้าได้เร็วกว่า นักลงทุนไม่ย้ายฐาน" นายฐากรกล่าวเสวนาในหัวข้อ "กระชากปม 5G ไปไม่ถึงฝัน"
พร้อมระบุว่า หากไม่เป็นไปตามที่วางแผนไว้ จะด้รับผลกระทบแน่นอน ทั้งภาคอุตสาหกรรมที่ต้องลดต้นทุนการผลิต ทำให้นักลงทุนต้องย้ายฐานไปอยู่ประเทศอื่น โดยประเมินว่าหาก 5G ไม่เกิด ภาคการผลิตจะเสียหายถึง 600,000 ล้านบาท ภาคโลจิสติกส์ 100,000 ล้านบาท ภาคเกษตร 90,000 ล้านบาท รวมสูญเสียมากถึง 2 ล้านล้านบาทต่อปี ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเดินหน้าขับเคลื่อนต่อไป และให้เกิดขึ้นโดยเร็ว
"ได้เชิญโอเปอเรเตอร์เข้าหารือ แต่โอเปอเรเตอร์นิ่งหมด บอกว่า 4G ยังไม่คุ้มทุน ให้ลงทุนเพิ่มอีก ขอรวบรวมเงินสำหรับการลงทุนก่อน ขอให้รัฐบาลช่วยให้ได้รับการจัดสรรฟรีก่อนได้หรือไม่ จึงมีความกังวลว่าจะสามารถไปถึงฝันได้หรือไม่ ขณะที่จีน เวียดนาม ให้โอเปอเรเตอร์ได้ใช้ฟรีก่อน แล้วนำมาชำระเงินภายหลัง ส่วนคลื่น 2600 อยู่ระหว่างเรียกคืนก็ประสบปัญหา จึงได้ปรึกษานายกฯ ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อน 5G เพราะ 5G ไม่ใช่สำหรับโมบายอย่างเดียว สำคัญต่อทุกอย่าง จึงช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิดขึ้น จะได้นำปัญหาที่เกิดขึ้นไปแก้ไข" เลขาธิการ กสทช.ระบุ
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการโอเปอเรเตอร์ได้สะท้อนปัญหาทั้งหมดไว้เป็นวาระแห่งชาติ 5G ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ 1. มูลค่าคลื่นความถี่ ที่คาดหวังจากการประมูลคลื่นความถี่ครั้งที่ผ่านมา 2. การลงทุนของโอเปอเรเตอร์ 3. การต่อยอดการทำงาน การนำไปใช้งาน ผู้ที่จะนำไปใช้งาน การตั้งคณะกรรมการช่วยขจัดปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการต่อยอดทันที เพื่อช่วยให้โอเปอเรเตอร์เกิดความมั่นใจในการลงทุนเพิ่มขึ้น
นายฐากร ยังได้ฝากไปยัง 3 สถาบัน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้ประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ให้มีความเหมาะสม ทั้งนี้ จะมีการพิจารณาเพิ่มเติมเงื่อนไขในการเปิดให้บริการ 5G ในพื้นที่อุตสาหกรรมเป็นลำดับแรก ก่อนเปิดให้บริการครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งโอเปอเรเตอร์ต้องมีการลงทุนกว่า 100,000 ล้านบาท เพื่อวางเครือข่ายให้ครอบคลุม
"เมื่อโอเปอเรเตอร์มีความมั่นใจในการลงทุนเพิ่มขึ้น เชื่อว่าจะช่วยสานฝัน 5G ให้เกิดขึ้นได้ในปี 2563 เพราะ 5G เป็นเส้นเลือดใหญ่ของประเทศ และของโลก ทั้งนี้ นายฮูลิน ซาว เลขาธิการสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) เสนอไปยังรัฐบาลของไทยว่า อย่าสร้างถนนให้มาก แต่ต้องสร้างโครงข่ายโทรคมนาคมให้มาก เพราะทุกอย่างจะหลอมรวมทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน โดยเริ่มจากภาคโทรคมนาคมเป็นตัวเชื่อมที่สำคัญ" นายฐากร กล่าว
ด้านนางอเล็กซานดรา ไรซ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) กล่าวว่า บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นในเรื่อง 5G แต่ต้องดูผลด้วยว่าจะเกิดอย่างไร ทั้งนี้ รู้สึกดีใจที่จะมีกรรมการระดับชาติมาดูแลเรื่องนี้ เพราะ 5G จะเกิดได้ต้องมาจากความร่วมมือของทุกฝ่าย
พร้อมมองว่า 5G เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะกับ B2B ส่วน B2C ก็ได้ประโยชน์ ในเกาหลีการทดสอบ 5G ยังไม่ได้ผลที่ชัดเจนเพราะมีผู้ใช้งานแค่ 10% เครือข่ายก็ยังไม่ดีมาก ซึ่งการขับเคลื่อน 5G ทั่วโลกเหมือนยังเป็นการหวังผลทางการตลาดมากกว่า ขณะที่ในสหรัฐฯ และยุโรปยังคงเป็นการเสนอผลการนำ 5G มาใช้ว่าจะเกิดประโยชน์อย่างไรบ้าง
"5G ควรเป็นการใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มผลิตภาพทางการผลิต การลดต้นทุน ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังไม่คิดว่าพร้อมจะจ่ายค่าบริการที่สูงขึ้นเพื่อความเร็วที่ดีกว่าเดิม ที่ผ่านมา ดีแทคอยากให้ทั้งอุตสาหกรรมเกิดการพัฒนา อยากช่วยให้มีการขับเคลื่อน 5G เพราะเห็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย การทำให้เกิด 5G ถ้าเร่งมากไปจะได้ผลที่ไม่ชัดเจน ดังนั้นจึงควรมีโรดแมป มีแผนการพัฒนาที่ขัดเจนเพื่อให้เกิดการลงทุนที่เหมาะสม ดีแทคคิดว่าปี 2563 อาจจะเร็วเกินไป ปี 2564 น่าจะเหมาะสมมากกว่า เพราะจะมีความพร้อมทั้งการลงทุน ผลการทดสอบการนำ 5G ไปใช้ ภาครัฐต้องคิดถึงประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในระยะยาวด้วย" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DTAC กล่าว
ทั้งนี้ DTAC ยืนยันที่จะพัฒนา 5G โดยขอให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างทุกภาคส่วน เพราะสุดท้ายแล้ว 5G จะเกิดขึ้นได้ต้องมีความพร้อมในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะต้องมีการลงทุนทางธุรกิจที่สมเหตุสมผล
"ดีแทคมุ่งมั่นและอยากลงทุน 5G แต่ด้วยราคาคลื่นความถี่คงต้องขอเวลาที่เหมาะสม ดีแทคยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร แต่ทำแน่ๆ การลงทุน 5G น่าจะเป็นการลงทุนเป็นระยะ และทุกเสปกตรัมแบนด์ ขอพูดแทนโอเปอเรเตอร์ทุกรายว่า เราพร้อมที่จะขยายเครือข่ายให้บริการ แต่ต้องขอดูรายละเอียดเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ และการลงทุนด้วย" นางอเล็กซานดรา ไรซ์ระบุ
ด้านนางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น (WHA) กล่าวว่า ในฐานะผู้สนับสนุนนิคมอุตสาหกรรม WHA พร้อมจะเป็นผู้ประสานให้ทุกฝ่ายได้คุยกันเพื่อทำเข้าใจ การพัฒนา 5G จะไปถึงฝันได้ น่าจะมีการหารือกับผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดการทดสอบการนำเทคโนโลยีไปใช้ด้วยกัน
ทั้งนี้ มีการประเมินว่า 5G จะทำให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจ 1.307 พันล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยภาคพลังงานจะได้ประโยชน์ 19% ภาคการผลิต 18% ภาคสาธารณสุข 12% ซึ่งคนเหล่านี้อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมทั้งนั้น มีการทดสอบ 5G ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ศรีราชา แต่เหตุใดจึงไม่ทดสอบในพื้นที่ที่จะมีการใช้งานในนิคมอุตสาหกรรม ผู้ที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมไม่เคยได้รับการขอความเห็นจากผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม
"แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับความชัดเจน ผู้ลงทุนทุกคนต้องการรู้ว่าจะคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ ทั้งภาคการผลิต ภาคพลังงาน ภาคขนส่ง ซึ่งเราไม่ได้รับการติดต่อให้ข้อมูลเลย"
พร้อมมองว่า กรณีสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนเป็นโอกาสที่ดีของไทย ในการเคลื่อนย้ายทุนการผลิตจากจีนมาที่ประเทศไทย 5G เป็นส่วนสำคัญที่จะรองรับอุตสาหกรรมที่มีแผนอยู่แล้ว ขอเพียงให้เกิดการทำงานร่วมกันแล้วทำให้โครงสร้างพื้นฐานของเรามีความพร้อม เพื่อไม่ให้ไทยเสียโอกาส
ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า การจะเกิด 5G ได้นั้น มองว่าต้องมี 3 ด้าน คือ 1. เชิงเศรษฐกิจ 2. ด้านสังคม และ 3. ด้านการเมือง ทั้งนี้ ด้านเศรษฐกิจนั้น 5G ทำให้การเชื่อมโยงในการติดต่อกันรวดเร็วขึ้น เกิดความสะดวกสบาย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เกิดความสามารถในการแข่งขันประเทศ และช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เกิดนวัตกรรมใหม่
นายธีระชัย กล่าวด้วยว่า ในด้านการแข่งขันนั้นจะต้องจัดให้มีความสมดุลของผู้ประกอบการ เพื่อการแข่งขันกับประเทศอื่น หากเริ่มต้นจากการสำรวจความพร้อม ยืนยันว่าไม่มีทางได้เริ่ม เพราะวิธีการใช้ 5G จะอาศัยคนที่มีตลาดอยู่แล้วเป็นไปไม่ได้ ต้องให้เอกชนตัดสินใจเองว่าจะลงทุนหรือไม่ ควรเปิดให้เอกชนต่างประเทศมาร่วม
"เราต้องตั้งประเด็นที่ว่าพร้อมลงทุนหรือไม่ ทางที่ดีให้เอกชนเป็นคนเสี่ยง เป็นคนตัดสินใจเป็นหลัก ต้องให้เขาแสดงความคิดเห็น อาจมีแนวคิดที่แปลกแนวมากขึ้น และควรเปลี่ยนกติกาในการประมูล"นายธีระชัย กล่าว