พาณิชย์ นัดประชุมวอร์รูม 7 ต.ค.ถกประเด็นสงครามการค้า-Brexit ชี้ผลกระทบเริ่มขยายวงทำศก.โลกอ่อนแอ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 26, 2019 12:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 7 ต.ค.62 กระทรวงพาณิชย์จะจัดการประชุมวอร์รูม (War Room) สงครามการค้า เพื่อประเมินสถานการณ์สำคัญ 2 เรื่อง คือ ความขัดแย้งของสหรัฐฯ และจีน และประเด็นเรื่องอังกฤษจะถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ที่ใกล้จะถึงกำหนดวันที่อังกฤษต้องออกจากสหภาพยุโรป รวมทั้งต้องประเมินผลกระทบต่อไทยจากการที่สงครามการค้าเริ่มทำให้เศรษฐกิจโลกอ่อนแอลง ส่งผลให้อุปสงค์ของทุกประเทศลดลง

โดยขณะนี้สถานการณ์ภายในของสหรัฐฯ มีความไม่ชัดเจน เกิดขึ้นจากที่พรรคเดโมแครตจะยื่นถอดถอนประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งแม้ว่าอาจจะถอดถอนไม่ได้ เพราะคะแนนเสียงไม่เพียงพอ แต่การเริ่มกระบวนการนี้ ก็จะสร้างความไม่มีเสถียรภาพในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของฝ่ายสหรัฐฯ ขณะนี้จีนและสหรัฐฯ ยังมีการเจรจาอย่างเป็นทางการกันอยู่ แต่พัฒนาการที่ปรากฏล่าสุด เช่น การกล่าวปราศรัยของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่สหประชาชาติ ก็ดูไม่เอื้อต่อการสร้างบรรยากาศที่ดีในการเจรจาเท่าใดนัก

อย่างไรก็ดี ฝ่ายสหรัฐฯ ยังมีไพ่สำคัญเก็บไว้ 2 ใบ คือ การขึ้นภาษีชุดสุดท้าย ที่ขณะนี้ชะลออยู่ (คือการขึ้นภาษีกลุ่ม 2.5 แสนล้านดอลลาร์ฯ จาก 25% เป็น 30% และการขึ้นภาษีกลุ่ม 3 แสนล้านดอลลาร์ รอบที่ 2 อีก 554 รายการ) และการเก็บภาษีนำเข้า (safeguard) สินค้ากลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน ภายใต้มาตรา 232 ของกฎหมายขยายการค้าของสหรัฐฯ ที่อยู่ระหว่างการไต่สวน และจะประกาศผลในวันที่ 14 พ.ย.62 ซึ่ง 2 มาตรการนี้จะส่งผลกระทบกับจีนมาก และประเทศอื่นก็จะพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย

ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า ผลจากการใช้มาตรการตอบโต้ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ก่อให้เกิดผลกระทบกับการค้าโลกมากกว่าที่คาดไว้ ทำให้ทั้งองค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) องค์การการค้าโลก (WTO) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ต่างก็ลดการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและการค้าโลกลง

โดย OECD ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลงจาก 3.6% เหลือ 2.9% ในส่วนของการค้าโลก WTO ประมาณการว่าจะอยู่ที่ 2.6% ในปี 2562 ลดลงจากการขยายตัว 10% ในปีก่อนหน้า (จากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเทียบกับปี 2017) ขณะที่ IMF ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลงจาก 3.5% เหลือ 3.2%

ทั้งนี้ การขึ้นภาษีของสหรัฐฯ กับจีน ไม่ได้ส่งผลกันเพียงระหว่างสองประเทศ และในเอเชียเท่านั้น แต่แผ่กระจายไปถึงฝั่งยุโรปด้วย เห็นได้จากเศรษฐกิจเยอรมนีซึ่งมีสัดส่วน 28% ของยูโรโซน และเป็นประเทศที่เน้นการส่งออกเช่นเดียวกับไทย เริ่มส่งสัญญาณไม่ดี ตัวเลขเศรษฐกิจทุกตัวลดลง การขยายตัวของจีดีพีในไตรมาส 2 หดตัว 0.1% เทียบกับไตรมาสแรกของปี ภาพรวมดัชนีการผลิตอุตสาหกรรมและภาคบริการในประเทศหดตัวในรอบหลายเดือน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังจะได้รับผลกระทบจากกำแพงภาษีใหม่จากสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนนี้

"ขณะนี้ นอกจากความขัดแย้งของสหรัฐฯ กับจีนแล้ว ยังเริ่มมีจุดเปราะบางในตะวันออกกลางที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน และปัญหา Brexit ที่ค่อนข้างจะยุ่งยาก และยังไม่เห็นทางออก แม้ว่ากำหนดวันที่ 31 ต.ค.จะใกล้เข้ามาแล้ว ซึ่ง Brexit ที่อาจตกลงกันไม่ได้ (no deal Brexit) จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจเยอรมนีที่ค้าขายลงทุนกับอังกฤษมากชะลอตัวลงไปอีก ซึ่งเยอรมนีเป็นเครื่องจักรเศรษฐกิจใหญ่ของยุโรป หากมีปัญหาจะทำให้ยุโรปเติบโตช้ากว่าที่ควร อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมารัฐบาลเยอรมันดำเนินนโยบายอย่างระมัดระวัง มีหนี้ภาครัฐต่ำ ทำให้มีเครื่องมือและความสามารถในการดำเนินนโยบาย (policy space) ที่ยังใช้มาตรการต่างๆ กระตุ้นได้ในอนาคตหากจำเป็น" ผู้อำนวยการ สนค.กล่าว

พร้อมระบุว่า ในส่วนของประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ส่งผลให้การส่งออกลดลง 4% ในเดือนส.ค.ที่ผ่านมา และเศรษฐกิจภายในยังไม่ค่อยฟื้นตัวดีนัก ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องปรับลดประมาณการเติบโตของ GDP ในปีนี้ลงอีก

นอกจากนี้ การที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีนโยบายไม่ขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากเห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเอื้อให้อัตราอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับสู่กรอบเป้าหมาย จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้นั้น การตัดสินใจดังกล่าวอาจจะทำให้เงินบาทแข็งค่าเพิ่มขึ้นอีก กระทบกับมูลค่าและรายได้จากการส่งออก ซึ่งทั้งหมดนี้ควรต้องมีการหารือร่วมกันโดยเร็วเพื่อหาจุดยืน และแนวทางที่ไทยควรดำเนินการต่อไป เพื่อรับมือความผันผวนทั้งหลาย

น.ส.พิมพ์ชนก กล่าวว่า ในการประชุม War Room ในวันที่ 7 ต.ค.นี้ จะมีวาระการประชุมเพียง 2 เรื่อง คือ สงครามการค้าและ Brexit เท่านั้น และมีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ซึ่งเมื่อประชุมแล้วเสร็จ จะได้นำแนวทางที่หารือกันเสนอต่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เพื่อพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐ-เอกชน พาณิชย์ (กรอ. พณ.) ที่จะประชุมในช่วงต้นเดือนต.ค.นี้ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ