นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวในการมอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ว่า สคร.มีบทบาทสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจาก สคร.กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่ง ที่มีสินทรัพย์รวมกันสูงถึง 15 ล้านล้านบาท ดังนั้นจึงต้องการให้ สคร. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจให้เข้มข้นมากขึ้น โดยหากมีรัฐวิสาหกิจรายใดที่เบิกจ่ายไม่ทันตามกำหนดการ ขอให้เสนอแผนลงทุนอื่นเข้ามาทดแทน เพื่อให้เม็ดเงินลงทุนดังกล่าวได้ลงสู่ระบบตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ตามเดิม
พร้อมเห็นว่า สคร.จะต้องแก้ไขกฎระเบียบให้สามารถดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวได้คล่องตัวมากขึ้นด้วย โดยภาพรวมการเบิกจ่ายงบลงทุนช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ สามารถเบิกจ่ายได้แล้ว 1.7 แสนล้านบาท คิดเป็น 47% ของงบลงทุน 3.6 แสนล้านบาท ซึ่งเป้าหมายที่ตั้งไว้ปีนี้จะต้องเบิกจ่ายให้ได้ 80%
"เราต้องช่วยผลักดันการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ในขณะนี้เศรษฐกิจโลกผันผวน เราต้องเร่งลงทุนในประเทศ ให้การเบิกจ่ายลงสู่ระบบโดยเร็ว ส่วนรัฐวิสาหกิจที่ลงทุนล่าช้า ต้องเข้าไปดูว่าเป็นเพราะอะไร ทำไม และถ้าดูแล้วว่าไม่ทันแน่ ๆ ก็สั่งให้หาโครงการอื่นมาทดแทน เพื่อให้เงินลงทุนยังเดินหน้าอยู่" รมว.คลังระบุ
นายอุตตม กล่าวด้วยว่า ต้องการให้ สคร.ผลักดันให้รัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ที่มีความต้องการใช้เม็ดเงินในการลงทุน เข้าระดมทุนผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ (TFFIF) เพื่อให้เกิดการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคาดว่าภายใน 6 เดือนหลังจากนี้จะเห็นโครงการของรัฐวิสาหกิจเข้าไประดมทุนผ่าน TFFIF ได้ประมาณ 1-2 โครงการ
รวมทั้งต้องการเห็นการลงทุนใหม่ ๆ ในโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐวิสาหกิจที่มีผลต่อเศรษฐกิจ มีเม็ดเงินลงทุนสูงถึง 2.5 แสนล้านบาท ซึ่ง สคร.จะออกกฎหมายลูกประมาณ 20 ฉบับ เพื่อให้เกิดการลงทุน PPP ได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้ สคร.ประสานการทำงานกับรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง และกระทรวงเจ้าสังกัดอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งให้เลือกผู้แทนกระทรวงการคลังที่จะเข้าไปนั่งเป็นกรรมการแต่ละรัฐวิสาหกิจให้เหมาะสมที่สุด เพื่อให้การทำงานเกิดความเข้มข้น และมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งหากกรรมการที่เป็นตัวแทนของกระทรวงการคลังรายใด ทำงานไม่ได้เป้าหมาย (KPI) ที่ตั้งไว้ จะต้องปรับเปลี่ยนคนเพื่อให้การทำงานเดินหน้าต่อไปให้ดีขึ้น
ด้านนายชาญวิทย์ นาคบุรี รองผู้อำนวยการ สคร. ยืนยันว่า การเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจจะทำได้ 80% หรืออีกประมาณ 1.2 แสนล้านบาทตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ เนื่องจากรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่หลายแห่งมีการลงทุนในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี เช่น บมจ. ปตท. (PTT) ที่ได้ทยอยลงทุนซึ่งจะทำให้มีการเบิกจ่ายในอัตราสูง ขณะเดียวกัน บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ได้แจ้งปรับเปลี่ยนการลงทุน เนื่องจากงบประมาณที่ขอมาไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทัน จึงมีการปรับเปลี่ยนมาเร่งลงทุนอื่นเร็วขึ้นกว่าแผนที่กำหนด วงเงินประมาณแสนล้านบาท
ส่วนการลงทุนใน TFFIF นั้น ขณะนี้มีรัฐวิสาหกิจหลายรายแสดงความสนใจระดมทุนผ่าน TFF ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภค แต่รายใดจะเดินหน้าเข้ามาระดมทุนนั้น ต้องรองบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ก่อน ว่าแต่ละรัฐวิสาหกิจได้เม็ดเงินลงทุนเท่าใด และต้องการระดมเงินลงทุนเพิ่มอีกหรือไม่ ซึ่งคาดว่าหลังจากเดือนธ.ค.นี้ จะมีความชัดเจนขึ้น