นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนสิงหาคม ปี 2562 พบว่าในด้านการใช้จ่ายมีสัญญาณชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะการส่งออกสินค้า อย่างไรก็ตาม ในด้านการผลิตมีการปรับตัวดีขึ้น ส่วนในภาคการท่องเที่ยวจากต่างประเทศกลับมาขยายตัวสูงสุดในรอบ 8 เดือน บวกกับการขยายตัวได้ต่อเนื่องของภาคการเกษตร ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งนี้ ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิดต่อไป
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอตัวเล็กน้อย สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่กลับไปชะลอตัวที่ -1.6% ต่อปี เช่นเดียวกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งที่ชะลอตัว -3.3% ต่อปี ส่วนยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ชะลอตัว -5.3% ต่อปี อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเฉพาะยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในประเทศพบว่าขยายตัวที่ 4.1% ต่อปี ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลง เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวช้าของเศรษฐกิจประกอบกับการแข็งค่าของเงินบาท ซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออกและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก
ส่วนเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนส่งสัญญาณชะลอตัว การลงทุนหมวดเครื่องมือเครื่องจักรสะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนกลับมาชะลอตัวที่ -9.4% ต่อปี ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ชะลอตัวที่ -9.2% ต่อปี ส่วนการลงทุนในหมวดก่อสร้างส่งสัญญาณชะลอตัวตามยอดการจัดเก็บภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวลง -9.2% ต่อปี เช่นเดียวกับปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ยังคงชะลอตัว -12.9% ต่อปี ส่วนดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างชะลอตัวที่ -2.3% ต่อปี การชะลอตัวส่วนหนึ่งเกิดจากการปรับตัวของนักลงทุนที่ชะลอการลงทุน เนื่องจากไม่มั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจ
เศรษฐกิจภาคการค้าระหว่างประเทศชะลอตัว สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ ชะลอตัวที่ -4.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการชะลอตัวของสินค้าส่งออกในหมวดของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และหมวดยานยนต์ อย่างไรก็ตาม สินค้าในกลุ่มผักผลไม้สดแช่แข็งและแปรรูป น้ำตาลทราย ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับ รถจักรยานยนต์ ยังคงขยายตัวได้ และตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ สหรัฐฯ ทวีปออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์ชะลอตัวอยู่ที่ -14.6% ต่อปี ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนสิงหาคม 2562 เกินดุลที่มูลค่า 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานพบว่า ภาคการท่องเที่ยวและภาคการเกษตรขยายตัว ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังส่งสัญญาณชะลอตัว โดยภาคการท่องเที่ยวสะท้อนจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวน 3.47 ล้านคน ขยายตัว 7.4% ต่อปี โดยนักท่องเที่ยวชาวจีนขยายตัวในอัตราเร่งถึง 18.9% ต่อปี เช่นเดียวกันกับนักท่องเที่ยวชาวอินเดียที่ขยายตัวถึง 32.4% ต่อปี ส่วนนักท่องเที่ยวประเทศอื่นยังคงขยายตัวได้ดี อาทิ นักท่องเที่ยวชาวลาว ญี่ปุ่น และมาเลเซีย และสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมูลค่ารวม 169,772 ล้านบาท คิดเป็นการขยายตัว 6.2% ต่อปี เช่นเดียวกับภาคการเกษตรสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่ขยายตัว 0.8% ต่อปี
ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมชะลอตัว -4.4% ต่อปี เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 92.8% ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า การปรับลดลงดังกล่าวมีปัจจัยมาจากผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ อันเนื่องมาจากการแข็งค่าของเงินบาท และความกังวลจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลงจากปัญหาอุทกภัย อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพของมาตรกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ล่วงหน้า 3 เดือนปรับตัวสูงขึ้น
เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 0.5% ต่อปี จากการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสด ขณะที่ราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานลดลง และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.4% ต่อปี สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.0% ของกำลังแรงงาน สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2562 อยู่ที่ 41.5% ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกิน 60% ต่อ GDP สำหรับเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ในระดับสูงที่ 220.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นายวุฒิพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สศค. จะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 2562 ใหม่ในเดือน ต.ค.นี้ จากปัจจุบันที่ประเมินว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) จะขยายตัวที่ระดับ 3% และการส่งออกลดลง -0.9% โดยยังมีปัจจัยหลายส่วนที่ต้องนำมาพิจารณา ทั้งผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมที่ขณะนี้อยู่ระหว่างรอข้อมูลการประเมินความเสียหายจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
รวมถึงผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่กระทบโดยตรงกับภาคการส่งออก ซึ่งจากข้อมูล 8 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ส.ค.62) พบว่า มูลค่าการส่งออกของไทยลดลง -2.2% ดังนั้นหากต้องการให้การส่งออกของไทยในปีนี้ขยายตัวได้ตามคาดการณ์ การส่งออกแต่ละเดือนในช่วงที่เหลือของปีนี้จะต้องไม่ติดลบ
"สศค. ยังมองว่าภาพรวมการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง จะขยายตัวได้ดีกว่าครึ่งปีแรกที่การส่งออกติดลบค่อนข้างมาก และภาพรวมการส่งออกในเดือน ส.ค.62 พบว่า -4.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลมาจากการชะลอตัวของสินค้าส่งออกในหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และหมวดยานยนต์ ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐชะลอตัวที่ -14.6% ต่อปี ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา เกินดุล 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ" นายวุฒิพงศ์ กล่าว