นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยถึงการเปิดลงทะเบียนรับสิทธิ์มาตรการ "ชิมช้อปใช้" ในช่วง 4 วันแรกว่า มีผู้สนใจเข้าร่วมเต็มตามโควตา 1 ล้านคน ในแต่ละวันแล้ว โดยในวันที่ 4 มีประชาชนมาลงทะเบียนครบ 1 ล้านคนตั้งแต่เวลา 05.40 น.
สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนเมื่อวันที่ 23 ก.ย.หลังจากการตรวจสอบสิทธิ์จากฐานข้อมูลกระทรวงมหาดไทย และตรวจสอบจังหวัดที่แสดงความประสงค์ไปท่องเที่ยวไม่ซ้ำซ้อนกับจังหวัดในทะเบียนบ้านแล้วพบว่า เป็นผู้ผ่านเกณฑ์ 807,321 ราย ซึ่งผู้ได้รับสิทธิ์จะทยอยได้รับ SMS ยืนยันภายในวันนี้ และสามารถเดินทางท่องเที่ยวพร้อมเริ่มจับจ่ายใช้สอยได้ตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป
ทั้งนี้ สิทธิ์ที่คงเหลือในแต่ละวันถูกยกไปใช้ต่อเป็นโควตาสำหรับให้ลงทะเบียนเพิ่มเติมได้ให้ครบโควตารวมตลอดโครงการที่ 10 ล้านราย ดังนั้น ประชาชนจึงสามารถทยอยลงทะเบียนได้ต่อเนื่อง จนถึงวันที่ 15 พ.ย. 62
โฆษกกระทรวงการคลัง ได้กล่าวเน้นย้ำว่า มาตรการ "ชิมช้อปใช้" ไม่ใช่การแจกเงิน แต่ต้องการให้เกิดการใช้จ่ายในสินค้าและบริการที่กำหนด เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ โดยสิทธิ์ 2 ส่วนคือ วงเงิน 1,000 บาทแรก ในกระเป๋า G-Wallet 1 เพื่อจูงใจให้กลุ่มคนที่มีกำลังซื้อออกมาท่องเที่ยวข้ามจังหวัด และสิทธิ์การได้รับเงินคืน (cash back) 15% ของวงเงินใช้จ่ายไม่เกิน 30,000 บาทในกระเป๋า G-Wallet 2 ซึ่งประชาชนต้องเป็นคนเติมเงินเข้าไปเอง
ดังนั้น การดำเนินการที่ผิดจากวัตถุประสงค์หรือหากตรวจพบว่ามีธุรกรรมลักษณะผิดปกติ เช่น การรับแลกวงเงินเป็นเงินสด จะถูกระงับสิทธิ์ทันที และจะถูกดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ซึ่งกระทรวงการคลังได้สั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าไปติดตาม ตรวจสอบกรณีที่มีมิจฉาชีพ หาประโยชน์จากมาตรการชิมช็อปใช้ โดยเสนอให้ผู้ที่ได้สิทธิ์ 1,000 บาท สามารถมาแลกเป็นเงินสดได้ โดยหักค่าธรรมเนียมการแลกเป็นเงินสด ซึ่งกระทรวงการคลัง มีข้อมูลทั้งหมดแล้ว และได้ถอดสิทธิ์จากการเป็นร้านค้าร่วมมาตรการผ่านแอพลิเคชันถุงเงินพร้อมทั้งจะดำเนินการความผิดทางกฎหมายอย่างถึงที่สุด จึงขอเตือนมิจฉาชีพอย่าคิดหาผลประโยชน์จากมาตรการ ที่จะเริ่มมีการจับจ่ายใช้สอยในวันที่ 27 ก.ย.2562 นี้
"ขอเตือนว่าอย่านำแอพลิเคชันไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เพราะคลังต้องการให้เงินใช้จ่ายผ่านบัตร ไม่ได้แลกไปใช้เป็นเงินสด ซึ่งมีทีมมอนิเตอร์ตรวจสอบการใช้จ่ายได้หมดในกรณีที่พบความผิดปกติ จะสั่งระงับสิทธิ์ได้ทันที"นายลวรณ กล่าว
ทั้งนี้ จากข้อมูลการลงทะเบียนในช่วง 4 วันแรก (23-26 ก.ย.) หากแยกตามกลุ่มอายุพบว่า วัยทำงาน (อายุ 31-60 ปี) มีสัดส่วนมากที่สุดที่ 54% รองลงมาคือวัยเริ่มต้นทำงาน (อายุ 22-30 ปี) 32% วัยนักศึกษา (อายุ 18-21 ปี) 8% และผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) 6% และหากแยกตามพื้นที่ซึ่งผู้ลงทะเบียนต้องการใช้สิทธิ์พบว่า ทั้ง 77 จังหวัดมีผู้แสดงความประสงค์ไปท่องเที่ยวและใช้สิทธิ์ โดยส่วนใหญ่ต้องการใช้สิทธิ์ในภาคกลาง คิดเป็นสัดส่วน 43% รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16% ภาคตะวันออก 15% ภาคใต้ 11% ภาคเหนือ 9% และภาคตะวันตก 6%