คลัง เห็นชอบขยายเวลามาตรการบรรเทาค่าไฟฟ้า-ประปา-คืน VAT ให้ผู้มีรายได้น้อยต่ออีก 1 ปี จนถึง 30 ก.ย.63

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 26, 2019 18:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม ซึ่งมีตนเป็นประธาน ได้เห็นชอบขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าและค่าน้ำประปาต่อไปอีก 1 ปี โดยจะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย.63 จากเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย.62 โดยกรณีค่าไฟฟ้า ให้ใช้ไฟฟ้าในวงเงิน 230 บาท/ครัวเรือน/เดือน และกรณีค่าน้ำประปา ให้ใช้น้ำประปาในวงเงิน 100 บาท/ครัวเรือน/เดือน

นอกจากนี้ ยังขยายระยะเวลามาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% ให้กับผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ออกไปอีก 1 ปี โดยจะสิ้นสุดในวันที่ 30 ก.ย.63 โดยการคืนเงินภาษีแวตเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะแบ่งเป็น 1. ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะต้องจ่ายภาษีจากการซื้อสินค้าเองตามปกติในอัตรา 1% 2. รัฐบาลจะทำการคืนเงินให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐด้วยการโอนเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-wallet) ทุกวันที่ 15 ของเดือน จำนวน 5% ซึ่งเงินส่วนนี้สามารถกดเป็นเงินสดออกมาใช้ได้ และ 3. จะมีการเก็บเงินเข้าบัญชีกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ของผู้ถือบัตรฯ จำนวน 1% เพื่อเป็นเงินออมของผู้มีรายได้น้อย หรือหากไม่มีบัญชีกับ กอช. อาจจะเปิดบัญชีเพื่อสะสมไว้

ทั้งนี้ งบประมาณที่ใช้ในการดำเนินการในส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 1,870 ล้านบาท แบ่งเป็น งบประมาณสำหรับอุดหนุนค่าไฟฟ้า จำนวน 1,740 ล้านบาท ค่าน้ำประปา 30 ล้านบาท และคืนภาษี VAT อีก 100 ล้านบาท ถือเป็นงบประมาณจำนวนไม่มาก แต่มีผลพอสมควรสำหรับผู้มีรายได้น้อย

"สศค. ได้ติดตามและประเมินผลของมาตรการดังกล่าว และพบว่าได้ผลการตอบรับเป็นอย่างดี จึงมีการพิจารณาขยายระยะเวลาของมาตรการออกไป เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งพื้นฐานที่จำเป็น และเป็นประโยชน์ รัฐบาลอยากให้สวัสดิการเหล่านี้แก่ผู้มีรายได้น้อยกลุ่มนี้ต่อไป และยังเป็นผลดีกับเศรษฐกิจอีกด้วย" นายอุตตม กล่าว

รมว.คลัง กล่าวอีกว่า ในวันที่ 30 ก.ย.นี้ กรมบัญชีกลางจะลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ บมจ. ปตท. (PTT) ในการเข้ามาใช้ระบบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สำหรับมาตรการลดค่าก๊าซหุงต้ม ซึ่งเป็นโครงการของ PTT เอง เดือนละ 100 บาท/ราย โดยปัจจุบันมีประชาชนเข้าร่วมในโครงการดังกล่าวประมาณ 1 แสนราย และในส่วนนี้เป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 8.8 หมื่นราย

สำหรับความคืบหน้าในการเปิดลงทะเบียนเพื่อเข้าโครงการสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่นั้น คาดว่าจะดำเนินการได้อย่างเร็วที่สุดภายในปี 2562 หรืออย่างช้าที่สุดในช่วงต้นปี 2563 โดยขณะนี้ สศค. อยู่ระหว่างจัดเตรียมหลักเกณฑ์การลงทะเบียนให้มีความเหมาะสมมากขึ้น

"สิ่งที่รัฐบาลทำ เป็นการช่วยเหลือเรื่องสวัสดิการ ควบคู่กับการพัฒนาตัวเอง เป็นชุดมาตรการ ไม่ได้พัฒนาอย่างเดียว หรือให้สวัสดิการเพียงอย่างเดียว โดยสวัสดิการรัฐเกิดขึ้นภายใต้หลักการที่รัฐบาลต้องการดูแลสวัสดิการที่จำเป็นกับการใช้ชีวิต ไม่ได้มากมายอะไรสำหรับผู้มีรายได้น้อย เพราะนอกจากสวัสดิการแล้ว ก็ยังมีมาตรการอีกด้าน ทั้งการสร้างอาชีพ สร้างทักษะให้องค์ความรู้ เป็นการขับเคลื่อนการพัฒนาฐานรากอย่างครบวงจร เป็นการดูแลสวัสดิการให้คนไทยที่จำเป็น และช่วยสร้างความเข้มแข็งให้คนมีรายได้น้อย" นายอุตตม กล่าว

ปัจจุบัน กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม มีเงินประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท และหากงบประมาณปี 2563 เรียบร้อย ก็จะมีเงินเติมเข้ามาอีก 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเพียงพอในการดูแลสวัสดิการให้ผู้มีรายได้น้อยอย่างต่อเนื่อง ไม่สะดุดอย่างแน่นอน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ