สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้ชี้แจงประเด็นข้อสังเกตที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2563 ก่อนที่จะนำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฏร
โดยได้ชี้แจงว่า พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2548 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ เพื่อเป็นกรอบในการกู้เงินและการบริหารหนี้ของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะฯ กำหนด ได้แก่ เพดานการกู้เงินและการค้ำประกันหนี้ของรัฐบาล รวมทั้งสอดคล้องกับกรอบการบริหารหนี้สาธารณะ ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ได้แก่ แผนการคลังระยะปานกลาง สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สัดส่วนงบชำระคืนต้นเงินกู้ของรัฐบาล และหนี้ที่รัฐบาลรับภาระ
การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ โดยกรอบวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณที่ได้บรรจุไว้ เป็นวงเงินกู้ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เพื่อประกอบการเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ให้รัฐสภาพิจารณา โดยกระทรวงการคลังจะสามารถกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ได้เมื่อ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาและประกาศเป็นกฎหมายแล้ว
นอกจากนี้ ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะยังมีการกู้เงินของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจในส่วนอื่น โดยเฉพาะโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ซึ่งจะต้องเสนอขอบรรจุวงเงินกู้ไว้ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ทั้งนี้ เพื่อให้การลงทุนภาครัฐสามารถดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง และเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ตั้งแต่เริ่มปีงบประมาณ พ.ศ. 2563