KBANK แนะธปท.ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยลดการแข็งค่าของบาทหลังมาตรการที่ใช้ผ่านมามีข้อจำกัด

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 27, 2019 17:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เปิดมุมมองแก้ปัญหาบาทแข็ง โดยคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อลดการแข็งค่าของเงินบาท เนื่องจากตั้งแต่ต้นปีเงินบาทแข็งค่ากว่า 6.28% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ นับเป็นค่าเงินที่แข็งค่ามากที่สุดในเอเชีย ทำให้ ธปท.จำเป็นต้องออกมาตรการจำกัดสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ระยะสั้นและจำกัดปริมาณเงินฝากในบัญชีเงินฝากของต่างชาติ (NRBA/NRBS) ในเดือน ก.ค.62 แต่ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาเงินบาทยังคงแข็งค่าในช่วง 30.40-30.70 บาท/ดอลลาร์

สำหรับมาตรการที่ ธปท.ใช้ที่ผ่านมามีข้อจำกัด ประกอบด้วย 1. ธปท. แทรกแซงค่าเงินบาทเพื่อลดการแข็งค่า ทำได้น้อยลงเมื่อเทียบกับในช่วงก่อนๆ เนื่องจากมีข้อจำกัดสำคัญจากความกังวลว่าจะถูกกระทรวงการคลังสหรัฐฯ กล่าวหาว่าเป็นผู้แทรกแซงค่าเงินบาท (Currency Manipulator) หลังจากที่จีนได้โดนกล่าวหาไปแล้วก่อนหน้านี้

หากประเมินจากข้อมูลในอดีตพบว่าในช่วงปี 59-60 ที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องนั้น ธปท.ได้เข้าแทรกแซงค่าเงินบาทเพื่อลดการแข็งค่า ส่งผลให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ต้นปี 62 ที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก เงินสำรองระหว่างประเทศกลับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าในช่วงปี 59-60 สะท้อนถึงธุรกรรมการแทรกแซงค่าเงินเพื่อลดการแข็งค่าของเงินบาทที่เบาบางลงกว่าในปีก่อนๆ

2. การฝากรายได้จากการส่งออกในรูปเงินตราต่างประเทศในบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit: FCD) เพื่อลดการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนเมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยปริมาณการฝากเงินตราต่างประเทศในบัญชี FCD สูงขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 52 ที่อัตราเฉลี่ย 17.6% ต่อปี โดยล่าสุดอยู่ที่ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

ข้อจำกัด แม้ว่าการสะสมเงินใน FCD จะช่วยชะลอการแข็งค่าของเงินบาทได้ แต่ในทางกลับกันเมื่อเงินบาทเริ่มอ่อนค่าลง การแปลงสกุลเงินต่างประเทศเป็นเงินบาทจากบัญชี FCD อาจส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าได้ช้าเช่นกัน

3. จำกัดสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ระยะสั้น (ก.ค.) โดยการลดวงเงินประมูลพันธบัตร ธปท. อายุ 3 เดือนและ 6 เดือนทำให้ปริมาณพันธบัตร ธปท.ที่จะออกประมูลแต่ละสัปดาห์อยู่ที่ 7.5 หมื่นล้านบาทในเดือน ก.ค.62 จากสัปดาห์ละ 8.5 หมื่นล้านบาท เพื่อลดช่องทางการไหลเข้าของเงินทุนจากนักลงทุนต่างชาติโดย

ข้อจำกัด ของมาตรการมาจากผลของปริมาณพันธบัตรที่ลดลงนั้นจะส่งผลให้อัตราผลตอบแทนโน้มลดลงเช่นกันจากความต้องการถือครองพันธบัตร ธปท. ที่ยังมีอยู่ต่อเนื่อง จนกลายเป็นการส่งสัญญาณที่ผิดพลาด เนื่องจากทำให้ตลาดคาดว่า ธปท. จะผ่อนคลายนโยบายการเงินได้

4. มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงิน (ก.ค.) โดยควบคุมยอดคงค้างในบัญชี NRBA/NRBS เพื่อลดช่องทางการเก็งกำไรเงินบาทในระยะสั้น ณ สิ้นวันไม่เกิน 200 ล้านบาทต่อราย พบว่ามีข้อจำกัด คือ มาตรการดังกล่าวได้ส่งผลให้เกิดเงินทุนไหลออกจากพันธบัตรระยะสั้น (ระยะน้อยกว่า 1 ปี ) ไปมากแล้วในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมารวม 64,238 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ประเมินว่าลดยอดคงค้างเพิ่มเติมอาจไม่ได้ส่งผลให้บาทอ่อนค่าเท่าใดนัก

ส่วนมาตรการอื่นๆ ที่ธปท. ยังไม่ได้นำมาใช้ ได้แก่ การสนับสนุนให้คนไทยลงทุนในพอร์ตการลงทุนต่างชาติ (Foreign Investment Fund) ด้วยการผ่อนคลายกฎเกณฑ์หรือเพิ่มวงเงินของนักลงทุนไทยที่ไปลงทุนต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้มีเงินทุนไหลออกจากไทยสูงขึ้นและเพิ่มความต้องการเงินตราต่างประเทศ

แต่มาตรการนี้ มีข้อจำกัด คือ มาตรการดังกล่าวอาจส่งผลต่อค่าเงินบาทช้าเนื่องจากต้องใช้เวลาในการปรับตัว อีกทั้งในปี 61 ธปท. ได้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์ให้ผู้ที่มีสินทรัพย์ทางการเงินตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไปสามารถลงทุนต่างประเทศได้โดยไม่ต้องผ่านตัวแทน แต่ก็ไม่ได้ทำให้เงินลงทุนในต่างประเทศของไทยเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

หรือมาตรการกำหนดภาษีอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา (Tobin Tax) หรือการกันสำรองเงินนำเข้า (URR) เพื่อเพิ่มต้นทุนของต่างชาติในการนำเงินเข้ามาในไทยเพื่อการเก็งกำไรระยะสั้น มีข้อจำกัด คือ มาตรการนี้ อาจทำให้นักลงทุนมองว่าตลาดการเงินไทยไม่ต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุนของไทยในอนาคต

อีกทั้งมาตรการ URR ที่เคยใช้ในปี 49 ซึ่งตั้งเงินสำรองถึง 30% ทำให้ต่างชาติขาดความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในไทยและนำเงินออกอย่างรวดเร็วเกินไป และปัจจุบัน นักลงทุนต่างชาติถือครองตราสารหนี้ ระยะสั้นลดลงแล้วกว่า 60% ของปริมาณถือครอง ณ สิ้นปี 61 เหลือเพียง 6.0 หมื่นล้านบาท เงินบาทที่แข็งค่ามากในปัจจุบันจึงอาจไม่ได้มาจากกระแสเงินต่างชาติที่ลงทุนในตราสารหนี้ ระยะสั้น

ทั้งนี้ เนื่องจากมาตรการเก็บอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราเป็นมาตรการใหม่ซึ่งยังต้องมีการศึกษาในเชิงลึก อีกทั้งต้องอาศัยความร่วมมือจากรัฐบาลในขั้นตอนการดำเนินงาน

ส่วนการกำหนดระยะเวลาการถือครองตราสารหนี้ (Withholding period) อาทิ กำหนดให้เงินทุนที่เข้ามาซื้อตราสารหนี้ ต้องถือครองต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 1 ปี เพื่อเพิ่มต้นทุนของการลงทุนเพื่อเก็งกำไรในระยะสั้น จึงจะช่วยลดปริมาณความต้องการซื้อเงินบาท มีข้อจำกัดที่อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติกังวลการขาดสภาพคล่องแม้ไม่ได้ต้องการลงทุนเพื่อเก็งกำไรระยะสั้น อีกทั้งประเด็นเงินบาทที่แข็งค่าในปัจจุบันอาจไม่ได้มาจากการเก็งกำไรระยะสั้นเช่นกัน

ส่วนความเป็นไปได้ในการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นเครื่องมือลดการแข็งค่าเงินบาทนั้น ธนาคารกสิกรไทย มองว่า นักลงทุนต่างชาติเข้ามาสะสมพันธบัตรรัฐบาลระยะมากกว่า 1 ปี อย่างมากและต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และเป็นเหตุผลสำคัญที่กดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ปริมาณการถือครองพันธบัตรระยะมากกว่า 1 ปี ของต่างชาติเพิ่มขึ้นถึง 54% จากประมาณ 5.5 แสนล้านบาท ณ ต้นปี 60 เป็น 8.5 แสนล้านบาทในปัจจุบัน (26 ก.ย.) เนื่องจากมองว่าเสถียรภาพการเงินแข็งแกร่ง (อัตราเงินเฟ้อของไทยที่ต่ำ) และมองว่าดอกเบี้ยของไทยมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับต่ำยาวนาน

ดังนั้น จึงเกิดคำถามว่า แทนที่จะส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ยซึ่งจะยิ่งดึงดูดเงินลงทุนเข้าตลาดตราสารหนี้ไทย แต่ในทางตรงกันข้าม การส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยนโยบายได้หรือไม่ เพราะอาจเป็นการช่วยให้นักลงทุนต่างชาติลดการถือครองตราสารหนี้ไทยจากความเสี่ยงการขาดทุนจากการลงทุนในตราสารหนี้ไทย และอาจเป็นช่องทางหนึ่งที่จะทำให้เงินอ่อนค่าลง

อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวอาจประสบผลสัมฤทธิ์ตามที่หวังภายใต้เงื่อนไขต่อไปนี้ คือ ธปท.ส่งสัญญาณขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง, ธปท.สามารถปิดช่องการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นได้ เพื่อป้องกันการโยกย้ายการลงทุนระยะยาวมาระยะสั้น, ธปท. อาจหามาตรการเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบต่อภาคธุรกิจในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว อีกทั้ง ธปท.ต้องสร้างความเข้าใจกับสาธารณชนเพื่อรักษาความน่าเชื่อถือของธนาคารกลาง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ