นายจุรินทร์ ลักษณ์วิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เป็นประธานในการประชุมมอบนโยบายการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวและชาวสวนปาล์มน้ำมันให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด และคณะอนุกรรมการติดตามกำกับดูแลการบริหารจัดการข้าวระดับจังหวัด และคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัดที่กระทรวงมหาดไทย ร่วมกับผู้แทนจาก 8 หน่วยงาน โดยใช้ระบบประชุมวีดีทัศน์ทำงไกล (VDO Conference) โดยระบุว่า การประชุมครั้งนี้เพื่อซักซ้อมความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้องในนโยบายสำคัญของรัฐบาลคือ การประกันรายได้เกษตรกรซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดยจะมีการประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 ประเภท ได้แก่ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และ ข้าวโพด
"รัฐบาลจะดูแลผลผลิตการเกษตรทุกอย่างแต่อาจจะเป็นวิธีต่างกัน ขอให้เกษตรกรไม่ต้องกังวล สินค้าเกษตร 2 ตัวที่ ครม.ให้ความเห็นชอบแล้วคือ ข้าวและปาล์มน้ำมัน ส่วนยางพาราจะมีการประชุมเพื่อออกมาตรการการประกันรายได้เร็วๆนี้ โดยการดำเนินนโยบายนี้ต้องมีการหารือ 3 ฝ่าย ได้แก่ ภาครัฐ เอกชน และตัวแทนเกษตรกร เพื่อให้การดำเนินนโยบายราบรื่น และบรรลุเป้าหมายสูงสุด" นายจุรินทร์ กล่าว
สำหรับนโยบายการประกันรายได้มีขึ้นเนื่องจากการปล่อยให้เกษตรกรขายสินค้าที่ราคาตลาดไม่เพียงพอที่การดำรงชีพเพราะเศรษฐกิจโลกเติบโตไม่ดี ทำให้ความต้องการสินค้าเกษตรในตลาดโลกอาจจะตกต่ำ นอกจากนี้ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรของไทยอาจจะแนวโน้มเกินความต้องการในประเทศ จำเป็นต้องพึ่งพาการส่งออก และรัฐบาลนี้ไม่อยากทำการลดการผลิตจะกระทบกับเกษตรกร
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็มีนโยบายเพิ่มการความต้องการภายในประเทศ แต่อาจต้องใช้เวลา นโยบายนี้จะทำให้เกษตรกรมีรายได้สองทางคือ 1 รายได้จากการขายสินค้าเกษตร และ 2 ราคาชดเชยที่รัฐบาลจ่ายให้เรียกว่าส่วนต่างซึ่งคำนวนจากราคาประกันลบออกด้วยราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง คือ ส่วนต่างที่รัฐชดเชย โดยรัฐบาลจะโอนเงินส่วนต่างเข้าบัญชี ธ.ก.ส.เกษตรกรโดยตรง ซึ่งเกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร
สำหรับปาล์ม รัฐบาลจะประกันรายได้ที่กิโลกรัมละ 4 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ไร่ การประกันรายได้นี้ ไม่ใช่การประกันราคาพืชผลการเกษตร เนื่องจากเป็นไปไม่ได้ที่จะประกันราคาที่จะขึ้นลงตลอดเวลา และจะเป็นการแทรกแซงตลาดและขัดกับหลักการ WTO แต่รัฐบาลจะประกันรายได้ โดยการโอนส่วนต่างดังที่ได้แจ้งก่อนหน้า
นายจุรินทร์ กล่าวว่า สาเหตุที่รัฐบาลประกันรายได้ชาวสวนปาล์มมากที่สุดที่ 25 ไร่ต่อครัวเรือน เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่มีที่ดินไม่ถึง 25 ไร่ ไม่เปิดทั้งหมด เนื่องจากนโยบายนี้ตั้งใจช่วยคนส่วนใหญ่ของประเทศ โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินงวดแรกในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญในประวัติศาสตร์ของไทย จึงขอให้เกษตรกรสวนปาล์ม 260,000 ครอบครัวเตรียมไปตรวจสอบบัญชีธนาคารของท่านได้ในวันพรุ่งนี้ (1 ต.ค.62)
ส่วนข้าวนั้นจะเริ่มจ่ายวันที่ 15 ตุลาคม 2562 เกษตรกรปลูกข้าวที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการฯ ให้รีบไปขึ้นทะเบียนและตรวจสอบสิทธิที่สำนักงานเกษตรอ้าเภอ และเปิดบัญชีกับ ธ.ก.ส. เพื่อใช้สิทธิรับเงินประกันรายได้งวดต่อไป ข้าวเปลือกหอมมะลิ 15,000 บาทต่อตัน จำนวน 14 ไร่ ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ 14,000 บาทต่อตัน จำนวน 16 ไร่ ข้าวเปลือกเจ้า 10,000 บาทต่อตัน จำนวน 30 ไร่ ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี 11,000 บาทต่อตัน จำนวน 25 ไร่ ข้าวเปลือกเหนียว 12,000 จำนวน 16 ไร่
"รัฐบาลจะไม่ประกันรายได้การปลูกข้าว 18 สายพันธุ์นอกเหนือจากนี้ เนื่องจากรัฐบาลจะไม่ส่งเสริมการปลูกข้าวสายพันธุ์อื่น โดยรัฐบาลจะโอนเงินให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวทั้ง 5 ชนิด ในวันที่ 15 ตุลาคมนี้ โดยจะรวมเกษตรกรที่ลงทะเบียนที่ประสบกับน้ำท่วมด้วย ถึงแม้จะขายพืชผลไม่ได้ ก็จะได้รับเงินชดเชยนี้เช่นกัน" นายจุรินทร์ กล่าว
สำหรับเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์สามารถไปขึ้นทะเบียนและสามารถได้รับเงินชดเชยนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ขอให้คำนึงว่าตอนนี้การค้าระหว่างมีมาตรฐานสูง และให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ตลาดโลกจะรับซื้อเฉพาะสินค้าเกษตรที่ปลูกในพื้นที่ที่ไม่บุกรุกทำลายป่า โดยรัฐบาลจะพยายามส่งเสริมการส่งออกสินค้าเกษตรเพื่อช่วยเหลือ โดยล่าสุด รัฐบาลได้เจรจากับรัฐบาลจีนในการส่งออกมันสำปะหลัง ที่ขายไปแล้ว 2.6 แสนตัน และจะนำทัพไปขายผลไม้ไทยที่จีนอีกในเดือน ตุลาคมนี้ และล่าสุดได้ขายยางพาราไทยที่อินเดียมูลค่า 12,000 ล้านบาท
สำหรับปาล์ม รัฐบาลมีนโยบายเสริมในการช่วยเหลือเกษตรกรเพิ่มเติม คือการขอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับซื้อปาล์มเพื่อผลิตไฟฟ้า โดยได้รับซื้อแล้ว 110,000 ตัน การส่งเสริมการส่งออกไปอินเดีย และลดการลักลอบการนำเข้าผิดกฎหมายและการส่งเสริมใช้น้ำมันที่มีส่วนผสมปาล์มน้ำมัน