น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า เบร็กซิทจะเป็นโอกาสในการผลักดันการส่งออกของไทย โดยเฉพาะสินค้าที่ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าชั่วคราวเป็นระยะเวลา 1 ปี (Temporary rate of custom duties) ในกรณีการออกจากสหภาพยุโรปแบบไม่มีข้อตกลง (No-deal Brexit) อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องเพชรพลอย เครื่องปรับอากาศ และส่วนประกอบเครื่องยนต์ หลังจากที่สหราชอาณาจักรได้ลงประชามติขอออกจากสหภาพยุโรปและได้ดำเนินกระบวนการเจรจาหาข้อตกลงเบร็กซิทมาเป็นระยะเวลากว่า 3 ปี
เดิมสหราชอาณาจักรมีกำหนดจะออกจากสหภาพยุโรปในวันที่ 29 มีนาคม 2562 แต่ได้เลื่อนขยายเวลาออกไป และนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร พยายามผลักดันให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปภายในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ ซึ่งปัจจุบันยังคงไม่แน่นอนว่า สหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปจะสามารถบรรลุข้อตกลงเบร็กซิทได้หรือไม่ ขณะนี้รัฐสภาสหราชอาณาจักรอยู่ระหว่างช่วงพักการประชุม และจะเปิดสมัยประชุมอย่างเป็นทางการอีกครั้งในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่า สมาชิกรัฐสภาอาจไม่สามารถพิจารณาข้อตกลงเบร็กซิทฉบับใหม่ได้ทันกำหนด
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 ศาลฎีกาสหราชอาณาจักรตัดสินว่า การที่นายบอริสปิดประชุมรัฐสภานั้นขัดต่อกฎหมายและจะมีผลให้รัฐสภากลับมาประชุมตามปกติก็ยิ่งสร้างความไม่แน่นอนว่า นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรและทีมเจรจาเบร็กซิทของสหราชอาณาจักรจะดำเนินการต่อไปอย่างไร ในขณะที่สมาชิกรัฐสภาต้องการให้นายบอริสขอเลื่อนเวลาเบร็กซิทออกไปอีกเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดกรณี No-deal Brexit
สถานการณ์ความไม่แน่นอนของเบร็กซิทจะทำให้เศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปชะลอตัวลง และน่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรมากกว่าสหภาพยุโรป เนื่องจากการค้าของสหราชอาณาจักรพึ่งพาตลาดสหภาพยุโรปกว่า 50% ขณะที่สหภาพยุโรปพึ่งพาตลาดสหราชอาณาจักรเพียง 5% โดย International Monetary Fund (IMF) ได้คาดการณ์ว่า หากสหราชอาณาจักรแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปแบบมีข้อตกลงจะทำให้ GDP ของสหราชอาณาจักรลดลง 2.5-4.0% ขณะที่ GDP ของสหภาพยุโรปจะลดลง 1.5% และกรณี No-deal Brexit GDP ของสหราชอาณาจักรจะปรับตัวลดลง 5.0-8.0% ขณะที่ GDP ของสหภาพยุโรปจะลดลง 0.8% นอกจากนี้ค่าเงินปอนด์ยังอ่อนค่าลงทำให้อัตราเงินเฟ้อของสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้นจากปี 2559 ที่ 0.7% เป็น 2.5% ในปี 2561 รวมถึงกรณี No-deal Brexit จะสร้างต้นทุนการทำธุรกิจสูงขึ้น และสูญเสียความคล่องตัวในการทำธุรกิจ ส่งผลให้นักลงทุนอาจพิจารณาย้ายการลงทุนจากสหราชอาณาจักรไปยังประเทศอื่นๆ ในยุโรปมากขึ้น โดยเฉพาะแถบยุโรปตะวันออกที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า และเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากความเป็นสหภาพศุลกากร
ผู้อำนวยการ สนค.กล่าวว่า สำหรับการประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาคการส่งออกของไทยในเบื้องต้นพบว่า ในปี 2561 การส่งออกของไทยไปสหราชอาณาจักรมูลค่า 4,026.55 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวเล็กน้อยจากปีก่อน 0.4% สหราชอาณาจักรเป็นตลาดส่งออกอันดับ 18 ของไทย และอันดับที่ 3 ของไทยในสหภาพยุโรป (รองจากเนเธอร์แลนด์และเยอรมนี) แม้ว่าการส่งออกของไทยไปสหราชอาณาจักรมีสัดส่วน 1.6% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย แต่มีกลุ่มสินค้าที่ไทยจะได้ประโยชน์ เนื่องจากการยกเว้นภาษีนำเข้าชั่วคราวเป็นระยะเวลา 1 ปี (Temporary rate of custom duties) ในกรณี No-deal Brexit โดยจะยกเว้นการจัดเก็บภาษีนำเข้าในสินค้า 87% ของรายการสินค้าทั้งหมดของสหราชอาณาจักร แต่มีการเก็บภาษีนำเข้าในสินค้าที่มีความอ่อนไหวอีก 26 กลุ่ม อาทิ ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ (เนื้อ แกะ หมู และสัตว์ปีก) และผลิตภัณฑ์นม เนย ชีส ข้าว รถยนต์ สิ่งทอ เซรามิก เอทานอล กล้วย น้ำตาล และสินค้าประมงบางชนิด เป็นต้น
ดังนั้น เมื่อพิจารณาสินค้า 20 รายการแรกที่ไทยส่งออกไปสหราชอาณาจักรพบว่า ผลกระทบจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 สินค้าที่น่าจะได้รับประโยชน์จากการยกเว้นภาษีนำเข้าไปยังสหราชอาณาจักรเป็นระยะเวลา 1 ปีเมื่อเบร็กซิทมีผลบังคับ ซึ่งเดิมเคยถูกเก็บภาษีนำเข้าไปยังสหภาพยุโรป มูลค่า 962.59 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นประมาณ 23.90% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปสหราชอาณาจักร อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องเพชรพลอย เครื่องปรับอากาศ ส่วนประกอบของเครื่องยนต์ เครื่องยนต์เบนซิน เครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ เครื่องสูบลมหรือสูบสุญญากาศ เครื่องอัดลมและเครื่องระบายอากาศ บรรจุภัณฑ์ที่ทำด้วยพลาสติก ยางรถยนต์ วงจรพิมพ์ แว่นตา ของปรุงแต่งชนิดที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ และอุปกรณ์สำหรับควบคุมระบบไฟฟ้า กลุ่มที่ 2 สินค้าที่มีโอกาสผลักดันการส่งออก แม้ว่ายังคงอัตราภาษีนำเข้าในอัตราใกล้เคียงกับสหภาพยุโรปและอยู่ภายใต้ระบบโควตาภาษี ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าอ่อนไหวของสหราชอาณาจักร มูลค่า 1,282.74 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 31.86% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปสหราชอาณาจักร อาทิ เนื้อสัตว์ (ไก่แปรรูปปรุงสุก) ยานพาหนะเพื่อการขนส่งสินค้า รถจักรยานยนต์ รถยนต์และยานยนต์เพื่อขนส่งบุคคล และข้าว และกลุ่มที่ 3 สินค้าที่ไม่น่าจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากภาษีนำเข้า 0% อยู่แล้ว มูลค่า 238.91 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 5.93% ของการส่งออกทั้งหมดของไทยไปสหราชอาณาจักร อาทิ แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องโทรศัพท์ รวมถึงเครื่องอุปกรณ์อื่น ๆ สำหรับการส่งหรือการรับเสียง ภาพ หรือข้อมูลอื่นๆ
ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า การยกเว้นภาษีนำเข้าชั่วคราวเป็นระยะเวลา 1 ปีของสหราชอาณาจักรจะส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าในกลุ่มแรก รวมทั้งเป็นโอกาสที่ภาคเอกชนไทยจะผลักดันให้เกิดการขยายการส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพของไทยไปยังสหราชอาณาจักรได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้ผลิตและผู้ส่งออกของไทยที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของการส่งออกสินค้าไปยังสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรปควรติดตามสถานการณ์เบร็กซิทอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาจได้รับผลกระทบจากการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการส่งออกของไทยไปสหราชอาณาจักร เช่น ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน กำลังซื้อของผู้บริโภคในสหราชอาณาจักรที่มีแนวโน้มลดลง ตลอดจนการชะลอตัวของเศรษฐกิจในยุโรปและเศรษฐกิจโลก เป็นต้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์เบร็กซิทอย่างใกล้ชิดเพื่อเร่งหาโอกาสเพื่อขับเคลื่อนการส่งออกของไทยอย่างต่อเนื่อง