นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีสถาบันการเงินแสดงความไม่เห็นด้วยกับการที่ ธปท.ต้องการให้ทบทวนการออกโปรโมชั่นผ่อนค่าสินค้าและบริการ 0% ว่า ในเรื่องนี้อาจจะมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะในความจริงแล้ว ธปท.ไม่ได้ต้องการเข้าไปควบคุมหรือบังคับการออกโปรโมชั่นต่างๆ ของธนาคารพาณิชย์ แต่ ธปท.ต้องการส่งเสริมให้สถาบันการเงินให้ความสำคัญกับการปล่อยสินเชื่อแบบรับผิดชอบ (responsible lending) มากกว่า
"อยากให้สถาบันการเงินถามตัวเองว่าวิธีการทำธุรกิจของเขา มันสร้างผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ให้กับสังคมหรือไม่ และการที่สถาบันการเงินได้มาลงนามในแนวปฏิบัติการปล่อยสินเชื่อแบบรับผิดชอบ ยกตัวอย่าง โปรโมชั่น หรือจ่ายผ่านบัตรเครดิต 0% ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ได้มีการพูดคุยกันทั้งระหว่างสถาบันการเงินด้วยกันเอง และกับแบงก์ชาติด้วย" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว
พร้อมระบุว่า การจัดโปรโมชั่นผ่อนชำระ 0% สำหรับสินค้าหรือบริการที่เป็นความจำเป็นของประชาชนนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ผิด เช่น ค่ารักษาพยาบาล หรือการซื้อสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอาชีพ แต่ ธปท.เห็นสถาบันการเงินบางแห่งพยายามรุกตลาดในกลุ่มผู้ที่เพิ่งเริ่มมีเงินเดือน แข่งขันการให้เครดิต และส่งเสริมให้มีการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น การท่องเที่ยวต่างประเทศ ซึ่งอาจเป็นการซ้ำเติมปัญหาหนี้ครัวเรือนในระยะยาว และมีผลเสียกลับมายังสถาบันการเงินเอง
"ประชาชนเห็นโปรโมชั่น 0% แล้วคิดว่าฟรีโดยไม่เข้าใจให้ชัดเจนว่าเมื่อใดที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้น จะทำให้เสียดอกเบี้ยปรับในอัตราที่สูงกว่ามาก พฤติกรรมการทำรูปแบบธุรกิจที่ใช้ 0% ทำโปรโมชั่นแรงๆ แล้วไปตบเหยื่อให้คนมาติด แล้วคาดหวังว่าจะได้รายได้จากค่าธรรมเนียม หรือดอกเบี้ยปรับชดเชย เรื่องพวกนี้เป็นคำถามที่ได้คุยกับสถาบันการเงินว่าเหมาะสมหรือไม่ มันอาจจะสร้างผลข้างเคียงที่ไม่ได้ตั้งใจ" นายวิรไทกล่ว
ทั้งนี้ ผู้ว่าการ ธปท.เห็นว่า การปล่อยสินเชื่อแบบรับผิดชอบเป็นเรื่องที่สถาบันการเงินแต่ละแห่งต้องมีแนวนโยบาย และนำไปสู่แนวปฏิบัติของตัวเอง ซึ่งสถาบันการเงินได้มีการพัฒนาและลงนามร่วมกันไปแล้ว ไม่ใช่กฎเกณฑ์ที่ ธปท.ไปห้ามการทำโปรโมชั่นผ่อนชำระ 0% แต่อย่างใด จึงต้องการให้ทำความเข้าใจให้ตรงกันในจุดนี้