นายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เปิดเผยว่า ในวันนี้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) มีการประชุมเป็นครั้งแรกภายหลังพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 2562 มีผลบังคับใช้ โดยที่ประชุมมีมติให้ปรับอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว โดยปรับเพิ่มเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯสำหรับ B7 เป็น 0.05 บาท/ลิตร จากเดิมชดเชยอยู่ 0.10 บาท/ลิตร , B10 เพิ่มการชดเชยเป็น 1.80 บาท/ลิตร จากเดิมชดเชยอยู่ 0.95 บาท/ลิตร และ B20 เป็นชดเชยในอัตรา 2.55 บาท/ลิตร จากเดิมชดเชยอยู่ 4.80 บาท/ลิตร มีผลตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (1 ต.ค.)
ทั้งนี้ เมื่อปรับอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯสำหรับกลุ่มดีเซลใหม่แล้ว จะทำให้ราคาขายปลีกน้ำมัน B7 สูงกว่า B10 ในอัตรา 2 บาท/ลิตร และสูงกว่า B20 ในอัตรา 3 บาท/ลิตร เป็นดังนี้ น้ำมันดีเซล B7 อยู่ในระดับเดิม 25.99 บาท/ลิตร , B10 อยู่ที่ 23.99 บาท/ลิตร จากเดิม 24.99 บบาท/ลิตร และ B20 อยู่ที่ 22.99 บาท/ลิตร จากเดิมที่ 20.99 บาท/ลิตร
หลังการปรับส่วนต่างราคาน้ำมันดีเซลแล้ว จะมีการเปลี่ยนน้ำมันฐานจากดีเซลหมุนเร็ว B7 เป็น B10 ซึ่งจะทำให้การใช้ B7 ลดลง และมีการใช้ B10 เพิ่มขึ้นแทน สำหรับการใช้ B20 คาดว่าจะชะลอตัวลงจากส่วนต่างราคาที่ลดลงจากเดิมที่ 5 บาท/ลิตร
ด้านสภาพคล่องของกองทุนน้ำมันฯหลังจากการปรับอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนแล้ว จะทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบน้อยลงจาก -813 ล้านบาท/เดือน เป็น -392 ล้านบาท/เดือน และเมื่อรวมกับการนำส่งเงินเข้ากองทุนในบัญชีก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ที่ส่งเงินเข้า 186 ล้านบาท/เดือน จะทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีสภาพคล่องเท่ากับ -206 ล้านบาท/เดือน โดยปัจจุบันเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิ อยู่ที่ 38,748 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมัน 44,327 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 5,579 ล้านบาท
อนึ่ง ตามที่พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 2562 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 24 ก.ย.ที่ผ่านมา ทำให้อำนาจหน้าที่การบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากเดิมที่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มาอยู่ในอำนาจของกบน. ขณะที่การปรับเงินนำส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯครั้งนี้ สืบเนื่องจากการที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล โดยให้เริ่มขยายส่วนต่างราคาขายปลีกB10 ให้ต่ำกว่า B7 ที่ 2 บาท/ลิตร และลดส่วนต่างราคาขายปลีก B20 ให้ต่ำกว่าน้ำมัน B7 ที่ 3 บาท/ลิตร โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.62 เพื่อรองรับการบังคับใช้ B10 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63 โดยมี B7 และ B20 เป็นน้ำมันดีเซลทางเลือก
นายวีระพล กล่าวว่า แนวโน้มยอดใช้น้ำมันดีเซล B10 ตั้งแต่เดือนต.ค.นี้ จะปรับสูงขึ้น หลังจากส่วนต่างราคาเพิ่มขึ้นเป็น 2 บาท/ลิตร และจะเป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63 ทดแทนการใช้น้ำมันดีเซล B7ที่จะกลายเป็นน้ำมันทางเลือก ขณะที่ยอดใช้น้ำมันดีเซล B20 จะชะลอตัวลง เนื่องจากส่วนต่างราคาจะลดลงเหลือ 3 บาท/ลิตร
สำหรับในดือนก.ค. ยอดใช้น้ำมันดีเซล B10 อยู่ที่ 1.3 หมื่นลิตร/วัน, B7 อยู่ที่ 54 ล้านลิตร/วัน และ B20 อยู่ที่ 6.71 ล้านลิตร/วัน ขณะที่ยอดใช้ไบโอดีเซล (B100) ยอดใช้เมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา อยู่ที่ 4.85 ล้านลิตร/วัน ซึ่งกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ก็จะติดตามสถานการณ์น้ำมันตั้งแต่ต.ค.-ธ.ค.นี้ ก่อนประเมินสถานการณ์ต่อไปด้วย
ทั้งนี้ จากการติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันพบว่า ราคาน้ำมันเบนซินตลาดโลกปรับลดลงมาใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติโจมตีโรงงานน้ำมันที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย แต่ราคาดีเซลตลาดโลกยังสูงกว่าก่อนเกิดวิกฤติ ส่งผลให้ค่าการตลาดน้ำมันกลุ่มเบนซินของผู้ค้าน้ำมันสูงขึ้นมากกว่า 2 บาท/ลิตร ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของค่าการตลาดที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เห็นว่าเหมาะสมควรอยู่ที่ระดับ 1.70-2.00 บาท/ลิตร ทำให้ราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินมีโอกาสปรับลดลง
นายวีระพล กล่าวอีกว่า กบน.ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาอัตราชดเชยกรณีเกิดวิกฤติราคาน้ำมัน โดยได้ว่าจ้างสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดำเนินการ และขณะนี้ผลการศึกษาเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างนำเสนอขออนุมัติจากกบน. ดังนั้น ระหว่างนี้กรณีการเกิดวิกฤติพลังงานจะยึดหลักเกณฑ์ที่สนพ. เสนอ กพช.ที่ผ่านมา โดยกำหนดกรอบเบื้องต้นว่า เพื่อพิจารณาการนำเงินกองทุนน้ำมันฯ มาใช้ในกรณีเกิดวิฤติราคาน้ำมัน โดย สนพ.กำหนดว่า หากราคาน้ำมันดิบรวม 5 วัน เพิ่มขึ้นเกิน 5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หรือปรับขึ้นประมาณ 1 บาท/ลิตร ทาง กบน.จะประชุมเพื่อพิจารณานำเงินกองทุนน้ำมันฯมาช่วยเหลือ
ส่วนราคา LPG ในรอบ 2 สัปดาห์ หากปรับขึ้นเกิน 35 เหรียญสหรัฐ/ตัน หรือ ประมาณ 1 บาท/กิโลกรัม หรือราคาเกิน 365 บาท/ถัง 15 กิโลกรัม ทาง กบน.จะประชุมพิจารณาเพื่อนำเงินกองทุนน้ำมันฯมาชดเชยต่อไป