นางสาวสมจิณณ์ พิลึก ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าในการพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่1) ว่า ภายหลังจากที่คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership: PPP) NET Cost ได้ข้อยุติการเจรจาเงื่อนไขในสัญญาการเข้าร่วมลงทุนของกลุ่มกิจการร่วมค้ากัลฟ์ และพีทีที แทงค์ ซึ่งประกอบไปด้วย บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) และ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินอล จำกัด ในกลุ่มบมจ.ปตท. (PTT) โดยได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการอัยการสูงสุด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กนอ.ก็เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีในพรุ่งนี้ (1 ต.ค.) เพื่อพิจาณาอนุมัติในการดำเนินโครงการเพื่อจะนำไปสู่การลงนามในสัญญาร่วมทุนระหว่าง กนอ. และ บริษัทร่วมค้าฯ ในขั้นตอนต่อไป
"โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 (ช่วงที่1) มีมูลค่าการลงทุน 45,480 ล้านบาท ในระยะเวลา 30 ปี หลังจากนี้ กนอ.จะมีการลงนามในสัญญาร่วมลงทุนหลังครม.อนุมัติ เพื่อจัดพื้นที่ส่งมอบให้กับบริษัทเอกชนเข้าดำเนินการออกแบบรายละเอียดการพัฒนาในส่วนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหรือ infrastructure โดยทันที ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะในการพัฒนาแล้วเสร็จและเปิดให้บริการนักลงทุนได้เป็นตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในปี 2568 และเชื่อว่าจะเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นในด้านการลงทุนทั้งในและต่างชาติได้อย่างแน่นอน"นางสาวสมจิณณ์ กล่าว
นางสาวสมจิณณ์ กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) จะดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ให้เป็นไปตามสัญญาร่วมลงทุนโดยมีจำนวน 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย ผู้แทนจาก กนอ. ผู้แทนจากสำนักงาน กพอ. ผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม และผู้แทนจากบริษัทเอกชนร่วมลงทุน เพื่อให้การดำเนินงานการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญซึ่งเป็น 1 ใน 5 EEC Project List ของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการลงทุนที่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไป และเป็นส่วนสำคัญสำหรับการนำเข้า - ส่งออกขนถ่ายสินค้ารองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ การพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 แบ่งเป็น พื้นที่ถมทะเลหลังท่าเพื่อใช้งานประมาณ 550 ไร่ และพื้นที่บ่อเก็บกักตะกอนดินเลนระหว่างก่อสร้างประมาณ 450 ไร่ ความยาวหน้าท่ารวมกันประมาณ 2,200 เมตร ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับการขนถ่ายกลุ่มสินค้าของเหลว และกลุ่มสินค้าพลังงาน (น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) ที่มีความต้องการใช้บริการเพิ่มขึ้นในอนาคต
การพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ประกอบด้วย ช่วงที่ 1 การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) โดยภาคเอกชนที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการฯในครั้งนี้จะสามารถเข้าพัฒนาได้ภายหลังจากที่ทำการลงนามในสัญญาร่วมลงทุน (PPP) ซึ่งการร่วมลงทุนในครั้งนี้ภาคเอกชนจะได้สิทธิในการพัฒนาพื้นที่ท่าเรือ (Superstructure) ประมาณ 200 ไร่ รวมมูลค่าการลงทุน ประมาณ 47,900 ล้านบาท แบ่งเป็น กนอ.ร่วมลงทุนเป็นมูลค่าปัจจุบันสุทธิไม่เกิน 12,900 ล้านบาท และ ภาคเอกชน 35,000 ล้านบาท ได้แก่ การขุดลอกและถมทะเล พื้นที่ 1,000 ไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ใช้ประโยชน์ 550 ไร่ และพื้นที่เก็บกักตะกอน 450 ไร่ การขุดลอกร่องน้ำ และแอ่งกลับเรือ การก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น การก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานการติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมการเดินเรือ ท่าเทียบเรือบริการ และท่าเรือก๊าซรองรับปริมาณการขนถ่ายก๊าซได้ 10 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568
ช่วงที่ 2 จะเป็นการลงทุนพัฒนาก่อสร้างในส่วนของท่าเรือ(Superstructure) กนอ.จะดำเนินการออกทีโออาร์เพื่อประกาศเชิญชวนภาคเอกชนที่สนใจเข้าร่วมพัฒนาโดยเอกชนเป็นผู้ลงทุนพัฒนาท่าเทียบเรือสินค้าเหลวรองรับปริมาณขนถ่ายสินค้าเหลวได้ 4 ล้านตันต่อปี คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 และเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568 ซึ่งจะใช้เงินลงทุนประมาณ 4,300 ล้านบาท และงานก่อสร้างพื้นที่หลังท่า จำนวน 150 ไร่ เงินลงทุน 3,200 ล้านบาท เพื่อรองรับธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เนื่องจากปัจจุบันการใช้งานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด มีการใช้งานใกล้เต็มศักยภาพรองรับแล้ว จึงจำเป็นต้องขยายเป็นระยะที่ 3 เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) และสินค้าเหลวสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งคาดว่าจะสามารถรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและสินค้าเหลวได้เพิ่มอีก 14 ล้านตันต่อปีในอีก 30 ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตามการพัฒนาโครงการดังกล่าวมีส่วนสำคัญต่อการดึงดูดการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้ง S-Curve และ New S-Curve ซึ่งจะเป็นผลให้เกิดการพัฒนาในมิติต่างๆ ทั้งมิติเศรษฐกิจและมิติสังคมก่อให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม เกิดการจ้างงาน และสร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นส่งผลต่อภาพรวมการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน