นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า สทท.ได้ปรับลดเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 62 มาอยู่ที่ 39.73 ล้านคน จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 40.64 ล้านคน แต่ยังเพิ่มขึ้น 3.21% เมื่อเทียบปีก่อนที่อยู่ที่ 38.18 ล้านคน และปรับลดคาดการณ์รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติลงมาอยู่ที่ 1.95 ล้านล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 2.20 ล้านล้านบาท แต่ยังเพิ่มขึ้น 4.06% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ 1.87 ล้านล้านบาท เนื่องจากปัจจัยค่าเงินบาทที่ปรับตัวแข็งค่า ที่อาจส่งผลกระทบต่อจำนวนวันที่เข้ามาท่องเที่ยวและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง
รวมถึงการล้มละลายของบริษัท โทมัส คุก (Thomas Cook) หรือบริษัทผู้นำเที่ยวที่เก่าแก่ที่สุดในโลกจากประเทศอังกฤษ ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีการจองทัวร์ในการเดินทางมาประเทศไทยประมาณ 1 แสนคนผ่านบริษัททัวร์ดังกล่าวได้รับผลกระทบ อีกทั้งยังมีปัจจัยจากเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจภายในประเทศที่ชะลอตัวลงด้วย
อย่างไรก็ตามได้ตั้งเป้านักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางท่องเที่ยวในประเทศในปีนี้จะอยู่ที่ 1 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่ 9 แสนคน จากปัจจุบันมีจำนวนนักท่องเที่ยวดังกล่าวแล้วที่ 8-9 แสนคน โดยคาดหวังมาตรการ "ชิม ช้อป ใช้" จะเข้ามากระตุ้นการท่องเที่ยวในไตรมาส 4/62 และหลังจากนี้ทางสทท. จะยังเดินหน้าผลักดันโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเตรียมเสนอภาครัฐ ให้คูปองกลุ่มวัยเกษียณไม่ต้องรอวันหยุด ออกไปท่องเที่ยวในประเทศผ่านบริษัททัวร์ ตั้งเป้าไว้ที่ 10 ล้านคน คาดเห็นความชัดเจนได้ในปี 63
สำหรับปัจจัยที่กระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศไทย ที่ส่งผลทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในไทย คือ การขยายระยะเวลามาตรการฟรีวีซ่าไปจนถึงปีหน้า โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมามากที่สุดยังคงเป็นประเทศจีน ซึ่งหากไตรมาส 4/62 ไม่มีเหตุการณ์ที่ผิดปกติเกิดขึ้น คิดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนประมาณ 2.67 ล้านคน เพิ่มขึ้น 23.43 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และคาดว่าในปี 62 จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยประมาณ 11.15 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5.87 ล้านคน จากปี 61
ทั้งนี้เมื่อดูอัตราการเข้าพัก (OCC) ของโรงแรมในประเทศไทยในไตรมาส 3/62 ก็คาดว่าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 63-68% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ไม่ได้สูงมาก เมื่อเทียบกับในอดีต แต่คาดว่าในไตรมาส 4/62 จะปรับตัวดีขึ้น หรือมาอยู่ที่ 65-75% จากเป็นช่วงของไฮซีซั่น ซึ่งภาคกลาง (รวมกรุงเทพฯ) จะเป็นจังหวัดที่ได้รับความสนใจมากที่สุด คิดเป็นอัตราการเข้าพักโรงแรมในไตรมาสสุดท้ายที่ 77-83%, รองลงมาคือภาคภาคใต้ คิดเป็น 70-75%, ภาคเหนือ คิดเป็น 59-64% และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คิดเป็น 63-68%
ส่วนสถานการณ์ท่องเที่ยวภายในประเทศ ตั้งแต่ไตรมาส 1 ถึงไตรมาส 3 ปี 62 อยู่ในระดับที่ทรงตัว จากปัจจัยเศรษฐกิจในประเทศไทยที่ชะลอตัว และภัยธรรมชาติ ซึ่งในเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ภาครัฐก็มีการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวผ่านมาตรการ ชิมช็อปใช้ ก็คาดว่าจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวไทยได้ในช่วงปลายปีนี้ และน่าจะส่งผลทำให้สถานการณ์การท่องเที่ยวในประเทศดีขึ้น โดยช่วงของการเปิดรับลงทะเบียนดังกล่าวก็มีประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก รวมถึงร้านค้าต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะมีร้านค้าเข้าร่วมเกือบ 2 แสนร้านค้า
"เชื่อว่าหากมีการร่วมมือร่วมใจกัน ภาคการท่องเที่ยวยังมีการเติบโตไปได้ไกล ซึ่งจากนี้ไปการทำการตลาดของเราจะไม่ทำแค่ Inbound และ Outbound แล้ว และเราจะขยายไปในหลายหน่วยงาน ขณะเดียวกันเรื่องของมาตรการ ชิมช็อปใช้ ก็อยากให้ประชาชนไปใช้จ่าย ไปช่วยเหลือที่ภาคอีสาน เนื่องจากขณะนี้ได้รับความเดือดร้อน"