นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เปิดเผยว่า ที่ประชุมฯ เมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้อนุญาตให้คนต่างชาติ 18 รายประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฮ่องกง ซึ่งมีการนำเงินเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจกว่า 470 ล้านบาท และส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานคนไทย 428 คน รวมถึงมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุน
สำหรับธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ประกอบด้วย 1.ธุรกิจบริการให้แก่บริษัทในเครือ/ในกลุ่ม จำนวน 6 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกงและสิงคโปร์ มีเงินลงทุนจำนวน 208 ล้านบาท ได้แก่ บริการให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ, การทำกิจการบริการทางบัญชี, บริการให้คำปรึกษาแนะนำและตรวจสอบระบบการทำงานภายในองค์กร, บริการรับจ้างทำฟันปลอมแบบครอบฟัน (Zirconia Crown) และ บริการให้กู้ยืมเงิน
2.ธุรกิจบริการให้แก่ลูกค้า จำนวน 5 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากประเทศสิงคโปร์ บริติชเวอร์จิ้น และญี่ปุ่น มีเงินลงทุนจำนวน 65 ล้านบาท ได้แก่ บริการให้ใช้ระบบสำหรับการจ้างงานผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่น, บริการเป็นผู้ให้บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์, บริการให้ใช้ช่วงสิทธิ์โปรแกรมเพื่อการบริหารจัดการมูลค่าหนี้สิน และ บริการให้เช่าแบบลีสซิ่งเครื่องอัลตร้าซาวนด์ พร้อมอุปกรณ์ กล้องตรวจจับการรั่วไหลของก๊าซ
3.ธุรกิจค้าปลีก/ค้าส่ง จำนวน 2 ราย โดยเป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น และสเปน มีเงินลงทุนจำนวน 24 ล้านบาท ได้แก่ การค้าปลีกแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และ การค้าส่งสารที่เติมลงในอาหารคนและอาหารสัตว์
4.ธุรกิจบริการเป็นคู่สัญญาเอกชน จำนวน 5 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากประเทศฮ่องกง และฝรั่งเศส และจีน มีเงินลงทุนจำนวน 173 ล้านบาท ได้แก่ บริการขุดเจาะปิโตรเลียม, บริการออกแบบทางวิศวกรรม บริหารจัดการโครงการรื้อถอนแท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในทะเล, บริการให้คำปรึกษาแนะนำและกำกับดูแลด้านวิศวกรรมสำหรับโครงการกำจัดกากอุตสาหกรรมและหน่วยผลิตไฟฟ้า, บริการออกแบบ จัดซื้อ จัดหา ติดตั้ง ตรวจสอบ ทดสอบ และบริหารจัดการโครงการประตูกั้นชานชาลาแบบครึ่งความสูง และ บริการติดตั้ง ตรวจสอบ ทดสอบระบบ บำรุงรักษา รวมถึงฝึกอบรมและให้การสนับสนุนทางเทคนิคพัฒนาดาวเทียมสำรวจทรัพยากร
ในเดือนกันยายน 2562 จำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 5 ราย คิดเป็น 38% ขณะที่เงินลงทุนลดลง 4,742 ล้านบาท คิดเป็น 91% เนื่องจากในเดือนสิงหาคม 2562 มีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูง คือ บริการออกแบบทางวิศวกรรม และบริหารจัดการโครงการปลดประจำการเรือผลิตและเก็บปิโตรเลียม บริการออกแบบ จัดหา ก่อสร้าง ติดตั้งและทดสอบเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกชนิดโพลีโพรพิลีน เป็นต้น
"การอนุญาตครั้งนี้จะมีผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นวิทยาการซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนงที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญหรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับวิศวกรรมและขั้นตอนในการรื้อถอนโครงสร้างแท่นขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในทะเล องค์ความรู้เกี่ยวกับการควบคุมหลุมเจาะปิโตรเลียมและความปลอดภัยนอกชายฝั่ง องค์ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบระบบไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของระบบประตูกั้นชานชาลาแบบครึ่งความสูง องค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์แบบอไจล์(Agile Overview) องค์ความรู้เกี่ยวกับระบบอวกาศ เป็นต้น" นายวุฒิไกร กล่าว
ขณะที่ช่วงเดือนมกราคม-กันยายน 2562 คนต่างด้าวได้รับใบอนุญาตจำนวน 155 ราย มีเงินลงทุนทั้งสิ้น 21,644 ล้านบาท และเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรากฏว่าจำนวนธุรกิจที่ได้รับอนุญาตลดลง 42 ราย คิดเป็น 21% ขณะที่เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 12,864 ล้านบาท คิดเป็น 147% เนื่องจากในปี 62 มีต่างชาติลงทุนประกอบธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง อาทิ บริการงานวิศวกรรม การจัดหา ติดตั้ง และทดสอบการใช้งานของระบบเครื่องบดดินหรือหินกึ่งเคลื่อนที่โครงการโรงไฟฟ้า บริการออกแบบ จัดซื้อจัดหา ติดตั้ง ตรวจสอบ รวมทั้งการแก้ไขความชำรุดบกพร่องและบำรุงรักษาโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายสีน้ำเงิน บริการออกแบบทางวิศวกรรม และบริหารจัดการโครงการปลดประจำการเรือผลิตและเก็บปิโตรเลียม บริการติดตั้ง ตรวจสอบ ทดสอบระบบและให้การสนับสนุนทางเทคนิคดาวเทียมสำรวจทรัพยากร เป็นต้น