นางสาวณัฐพร ตรีรีตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ได้ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 62 ลงเหลือโต 2.8% จากเดิมที่ 3.1% จากการที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว กระทบถึงภาคการส่งออกของไทยที่ชะลอตัวตาม โดยที่ตัวเลขการส่งออกไทยในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาหดตัวลงมากกว่าที่คาด โดยติดลบถึง 2.2% ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการตัวเลขการส่งออกไทยลงมาที่ -1% จากเดิมที่คาดว่า 0% กระทบมาถึงตัวเลข GDP ของไทยที่ปรับตัวลดลงตามไปด้วย
ขณะที่มาตรการ "ชิมช้อปใช้" มองว่าจะช่วยหนุน GDP ได้เล็กน้อย 0.02% และสามารถช่วยการกระตุ้นการบริโภคในระยะสั้นช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ได้ ซึ่งมองว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยพยุงการบริโภคภาคเอกชนในปี 62 เติบโตได้ตามที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดไว้ที่ 4.2%
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 63 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า GDP มีโอกาสเติบโตต่ำกว่า 3% โดยที่เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับความเสี่ยงและความท้าทายของจากปัจจัยภายนอกที่มีความไม่แน่นอนอยู่มาก ส่งผลต่อความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และกระทบไปถึงภาคการส่งออกที่ยังมีทิศทางหดตัว
ส่วนปัจจัยในประเทศในปี 63 ยังต้องติดว่าจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีกหรือไม่ หากออกมาตรการมาควรเน้นไปที่การดูแลแรงงานที่ไม่มีหลักประกันทางสังคมรองรับ เช่น กลุ่มอาชีพอิสระ และกลุ่มเอสเอ็มอีที่ยอดขายเกิดการชะลอตัวลง หลังผู้บริโภคระมัดระวังและชะลอการใช้จ่าย ด้านมาตรการทางการเงินมองว่าคณะกรรมนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้อีก แต่มาตรการทางการเงินจะต้องใช้เวลามากกว่าจะเริ่มเห็นผลบวกต่อเศรษฐกิจ