ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 62 ลงเหลือโต 2.8% จากเดิมที่ 3.1% จากการที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวกระทบทำให้ภาคการส่งออกของไทยชะลอตัวตาม โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้การส่งออกหดตัวลงมากกว่าที่คาด โดยติดลบถึง 2.2% จึงคาดว่าทั้งปีจะหดตัว -1% จากเดิมที่คาดว่าทรงตัว 0% และกระทบมาถึง GDP ให้ปรับตัวลดลงตามไปด้วย
ขณะที่มาตรการ "ชิมช้อปใช้" มองว่าจะช่วยหนุน GDP ได้เล็กน้อยราว 0.02% โดยคาดว่าจะกระตุ้นการบริโภคในระยะสั้นช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งมองว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยพยุงการบริโภคภาคเอกชนในปีนี้เติบโตได้ตามที่คาดไว้ที่ 4.2%
ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 63 คาดว่า GDP มีโอกาสเติบโตต่ำกว่า 3% เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับความเสี่ยงและความท้าทายของจากปัจจัยภายนอกที่มีความไม่แน่นอนมาก ซึ่งส่งผลต่อความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และกระทบไปถึงภาคการส่งออกที่ยังมีทิศทางหดตัว
ปัจจัยในประเทศในปีหน้ายังต้องติดว่าจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีกหรือไม่ หากออกมาตรการมาควรเน้นไปที่การดูแลแรงงานที่ไม่มีหลักประกันทางสังคมรองรับ เช่น กลุ่มอาชีพอิสระ และกลุ่มเอสเอ็มอีที่ยอดขายเกิดการชะลอตัวลง หลังผู้บริโภคระมัดระวังและชะลอการใช้จ่าย ด้านมาตรการทางการเงินมองว่าคณะกรรมนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงได้อีก แต่มาตรการทางการเงินจะต้องใช้เวลามากกว่าจะเริ่มเห็นผลบวกต่อเศรษฐกิจ
นางสาวณัฐพร ตรีรีตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า การพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มองว่ามีโอกาสจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 1 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้มาอยู่ที่ 1.25% ต่อปี จากปัจจุจันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 1.50% ต่อปี แต่หากการปรับลดดอกเบี้ยอีกครั้งยังไม่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้ ก็มีโอกาสที่ กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งในปี 63 ไปอยู่ที่ 1% ต่อปี
สำหรับทิศทางค่าเงินบาท มองว่ายังมีความผันผวน แต่แข็งค่าต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 63 จากที่คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้าลดลงอีก 1 ครั้ง หลังจากนั้นอาจจะชะลอไปและไม่ส่งสัญญาณแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยออกมาอีก ซึ่งถ้าเฟดหยุดการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะช่วยลดแรงกดดันค่าเงินบาทและอาจทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงในปี 63 ในทางตรงกันข้ามหากเฟดยังคงลดอัตราดอกเบี้ยจะทำให้ค่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าไปได้อีก
นายศิวัสน์ เหลืองสมบูรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า ประเด็นสงครามการค้ายังมีความยืดเยื้อต่อไป ซึ่งมองว่าจะกระทบต่อภาคการส่งออกไทยในปี 63 อีก 1-2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากต้องรับรู้ผลกระทบจากการเก็บภาษีนำเข้าจากสินค้าจีนอย่างต่อเนื่อง จากในปีนี้ไทยรับผลกระทบจากสงครามการค้าราว 2.1-3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
แม้ว่าไทยจะได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตบ้าง แต่เป็นการย้ายของผู้ประกอบการระดับโลกที่มีฐานการผลิตที่จีนและไทยอยู่แล้ว เช่น ชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์ ฮาร์ดดิส ชิ้นส่วนรถยนต์ และชิ้นส่วนกล้อง อีกทั้งประโยชน์ที่ไทยให้กับนักลงทุนต่างชาติยังน้อยกว่าประเทศอี่นในอาเซียน ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ๆอาจจะยังไม่รีบตัดสินใจเข้ามาลงทุน ซึ่งทางภาครัฐก็จะมีการออกแพ็คเกจดึงดูดความน่าสนในการลงทุนเพิ่มเติมออกมา
ส่วนประเด็นอังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) คาดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่อังกฤษจะออกจากการเป็นสมาชิกในสหภาพยุโรปแบบ No Deal โดยขั้นตอนต่อไปเป็นการตกลงกันเรื่องรูปแบบและข้อตกลงทางการค้าระหว่างกัน รวมถึงประเด็นพรมแดนไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งพัฒนาการเหล่านี้จะกระทบต่อตลาดเงิน แม้ว่าผลกระทบของ Brexit ต่อเศรษฐกิจไทยจะมีไม่มากนัก