ธนารักษ์ตั้งเป้าจัดเก็บรายได้ปีงบ 63 ไม่ต่ำกว่า 15,000 ลบ. จี้ส่วนราชการใช้ที่ราชพัสดุผิดวัตถุประสงค์ต้องนำส่งรายได้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 1, 2019 16:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยภายหลังการเข้ารับตำแหน่งใหม่เป็นวันแรกว่า ได้ตั้งเป้าการจัดเก็บรายได้สำหรับปีงบประมาณ 2563 ไว้ไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการที่ตั้งไว้ที่ 10,000 ล้านบาท โดยจะเข้าไปสำรวจพื้นที่ราชพัสดุที่ให้หน่วยงานราชการ แต่นำไปใช้ประโยชน์ผิดวัตถุประสงค์ เช่น ใช้พื้นที่เพื่อเชิงพาณิชย์ ซึ่งมีทั้งการเปิดสถานีบริการน้ำมัน เปิดร้านสวัสดิการ ร้านกาแฟ และให้เช่าช่วงต่อในอัตราสูง ซึ่งหน่วยงานราชการดังกล่าวไม่เคยนำส่งเงินรายได้เข้ารัฐ

ทั้งนี้เกณฑ์การจัดเก็บรายได้ที่ราชพัสดุของหน่วยงานราชการนั้น หากหน่วยงานราชการนำพื้นที่ไปใช้ในเชิงพาณิชย์จะต้องแบ่งสัดส่วนรายได้เข้ารัฐ 70% ของรายได้ที่ได้รับ และเก็บไว้บริหารจัดการเองในหน่วยงาน 30% แต่ที่ผ่านมา หน่วยงานรัฐได้รายได้ดังกล่าวไปทั้งหมด 100% โดยไม่ส่งเงินเข้ารัฐ

"จะสั่งการให้ธนารักษ์พื้นที่ ลงไปสำรวจพื้นที่เหล่านี้ และติดตามความคืบหน้าผ่านศูนย์ข้อมูลที่จะตั้งขึ้นมาใหม่ โดยจะสำรวจให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับกรมธนารักษ์ให้มากขึ้น" อธิบดีกรมธนารักษ์คนใหม่ระบุ

ส่วนอัตราค่าเช่าของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ หลังจาก พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุปี 2562 มีผลบังคับใช้นั้น จะมีการจัดเก็บค่าเช่าจากเดิมที่ยกเว้นค่าเช่าให้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจผลประกอบการของรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งว่ามีรายได้มากน้อยเพียงใด เพื่อนำมาคำนวณการคิดอัตราค่าเช่าที่เหมาะสมต่อไป

นายยุทธนา กล่าวด้วยว่า กรมธนารักษ์ได้เตรียมส่งหนังสือไปถึงทุกหน่วยงานราชการ ให้จัดสรรพื้นที่ให้ชุมชนหรือวิสาหกิจชุมชนมีพื้นที่จำหน่ายสินค้าและทำกิจกรรมในระดับตำบล อำเภอ และระดับจังหวัด เพื่อดำเนินงานตามโครงการประชารัฐสร้างไทยของรัฐบาล ที่ไม่ต้องใช้งบประมาณและสามารถดำเนินการได้เลย โดยจะเป็นการเปิดพื้นที่ใช้สอยแบบหมุนเวียน เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งตั้งเป้าว่าภายในปี 2563 จะให้ประชาชนมีพื้นที่ดังกล่าวได้ครบทุกจังหวัด

ขณะที่การลงทุนในพื้นที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์นั้น จะสานต่อโครงการที่ดำเนินการอยู่ขณะนี้อย่างต่อเนื่อง โดยภายใน 4-5 ปีข้างหน้า จะมีการลงทุนคิดเป็นมูลค่าถึง 60,000-70,000 ล้านบาท อาทิ พื้นที่ราชพัสดุศูนย์ประชุมสิริกิติ์ วงเงินลงทุน 10,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้เริ่มก่อสร้างแล้วและจะแล้วเสร็จในปี 2565 เพื่อให้ทันต่อการประชุมเอเปกที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี, ที่ดินบริเวณหมอชิต วงเงินลงทุน 26,000 ล้านบาท จะเร่งเจรจากับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อยุติข้อปัญหาด้านการออกแบบก่อนลงนามทำสัญญาในเดือน ก.ค.63 หลังจากที่มีปัญหามานาน และไม่สามารถเดินหน้าโครงการได้, โรงแรมร้อยชักสาม วงเงินลงทุน 1,600 ล้านบาท ที่คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในเร็วๆ นี้, ศูนย์ราชการ โซน C วงเงินลงทุน 30,000 ล้านบาท ที่ได้ผู้ออกแบบโครงการแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้รับจ้างก่อสร้าง ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ