ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ห่วงหนี้ครัวเรือนไทยโตแซง GDP หลังเศรษฐกิจไทยช่วงที่เหลือยังเผชิญกับข้อจำกัดการฟื้นตัว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 1, 2019 18:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนในไตรมาสที่ 2/2562 เติบโตในอัตราชะลอลงมาที่ 5.8% หลังจากที่เร่งตัวขึ้นถึง 6.3% ในไตรมาสที่ 1/2562 (สูงสุดในรอบ 4 ปี) ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการชะลอตัวลงของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หลังเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) เริ่มมีผลตั้งแต่เดือนเม.ย.62 ที่ผ่านมา โดยเงินให้กู้ยืมเพื่อที่อยู่อาศัยส่วนบุคคลของสถาบันการเงิน (ทั้งในส่วนที่ปล่อยผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และสถาบันการเงินอื่นๆ) ชะลอการเติบโตลงมาที่ 6.8% ไตรมาสที่ 2/2562 จากที่เร่งตัวขึ้นก่อนเกณฑ์ LTV ถึง 8.0% ในไตรมาส 1/2562 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยยังเป็นประเด็นที่น่ากังวล และต้องการการร่วมดูแลแก้ไขจากหลายฝ่าย โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ยังคงทรงตัวอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 2 ปีครึ่งที่ 78.7% ในไตรมาส 2/2562 เท่ากับไตรมาส 1/2562 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าหากเปรียบเทียบการเติบโตของหนี้ครัวเรือนกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจแล้ว จะพบว่าหนี้ครัวเรือนมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่องตลอด 1 ปีที่ผ่านมา (ในช่วงระหว่างไตรมาส 3/2561 ถึงไตรมาสที่ 2/2562) โดยหนี้ครัวเรือนเติบโตที่ระดับประมาณ 6.0% โดยเฉลี่ยต่อไตรมาส ขณะที่ Nominal GDP ของไทย มีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อไตรมาสที่ประมาณ 4.5%

"สภาวะหนี้ที่เติบโตเร็วกกว่าการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อาจเป็นสัญญาณที่สะท้อนว่า ประเด็นสำคัญของหนี้ครัวเรือนในเวลานี้ ก็คือความสามารถในการชำระคืนหนี้ ในยามที่ระดับรายได้ของครัวเรือนและทิศทางเศรษฐกิจในภาพรวมยังคงชะลอตัว แม้ว่าที่ผ่านมา ภาระดอกเบี้ยจ่ายของสินเชื่อบางส่วน ได้ปรับตัวลงมาตามอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับกลุ่มลูกค้ารายย่อยของสถาบันการเงินแล้วก็ตาม" บทวิเคราะห์ระบุ

สำหรับแนวโน้มหนี้ครัวเรือนในปี 2562 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ปรับทบทวนกรอบประมาณการสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปี 2562 ขึ้นมาที่ 78.5-79.5% (จากกรอบคาดการณ์เดิมที่ 77.5-79.5% ต่อจีดีพี) เนื่องจากข้อจำกัดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะที่เหลือของปี

อย่างไรก็ดี ประเมินว่ามาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงิน และมาตรการดูแลเสถียรภาพของระบบการเงิน ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทยอยประกาศใช้ และเตรียมที่จะดำเนินการเพิ่มเติม น่าจะมีส่วนช่วยจำกัดความเสี่ยงเชิงระบบของระบบการเงินไทย ขณะที่การวางแนวทางให้สถาบันการเงินพิจารณาสินเชื่อรายย่อย โดยคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ และสถานะทางการเงินหลังผ่อนชำระหนี้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ก็น่าจะช่วยลดปัญหาการก่อหนี้เกินตัวด้วยอีกทางหนึ่ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ