นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดว่า มาตรการ"ชิมช้อปใช้"จะส่งผลกระตุ้นเศรษฐกิจปีนี้ให้ขยายตัวเพิ่มได้ไม่ต่ำกว่า 0.2-0.3% จากเป้าหมาย 3% เนื่องจากคาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจตั้งแต่เดือน ต.ค.-พ.ย.นี้ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท โดยเป็นการอุดหนุนจากรัฐ 1.9 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นการใช้จ่ายจากประชาชนในกระเป๋า 2 เพื่อขอรับเงินแคชแบ็คคืน 15% ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ใช้สิทธิในส่วนนี้ประมาณ 3 ล้านราย วงเงินเฉลี่ยรายละ 13,500 บาท
"เชื่อว่าจากผลตอบรับของมาตรการดังกล่าวจะมีแรงจูงใจมากพอ และจากความพยายามของกระทรวงการคลัง ทำให้ยังมีความหวังอยู่ว่าตัวเลขจีดีพีปีนี้จะขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 3%"
พร้อมยืนยันว่า มาตรการชิมช็อปใช้ ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ เพราะจากการใช้จ่ายในช่วง 5 วันแรกอยู่ที่ 628 ล้านบาท มีการใช้จ่ายผ่านห้างขนาดใหญ่แค่ 142 ล้านบาทหรือ 22% เท่านั้น
สำหรับยอดลงทะเบียนชิมช้อปใช้ 7 วันแรกอยู่ที่ 5.5 ล้านราย ส่งเอสเอ็มเอสยืนยันสิทธิ์แล้ว 4.7 ล้านราย เหลือส่งเอสเอ็มเอส 8 แสนราย โดยใน 4.7 ล้านราย มีจำนวน 2.7 ล้านรายที่โหลดแอพลิเคชั่นเป๋าตังแล้ว อีก 8.2 แสนรายยังไม่ได้ทำอะไรเลย และอีก 1.1 ล้านรายอยู่ระหว่างดำเนินการสแกนภาพหน้าผ่านสิทธิ์
นายลวรณ กล่าวว่า ได้ประสานงานไปยังธนาคารกรุงไทย (KTB) เพื่อปรับปรุงระบบยืนยันตัวตน โดยคาดว่าจะใช้เวลา 1-2 วัน ทำให้การถ่ายรูปตัวตนในมาตรการชิมช็อปใช้ สะดวกมากขึ้น หลังจากเกิดปัญหาผู้รับสิทธิ์ถ่ายรูปไม่ผ่านหลายครั้ง ซึ่งจากการประเมินพบว่าปัญหาไม่ได้มาจากภาพ แต่เป็นเรื่องความสว่างของภาพถ่าย ซึ่งต้องควบคุมความสว่างของภาพไม่ให้ระบบสแกนภาพยากจนเกินไป
"ได้สั่งให้ไปปรับปรุงระบบให้เสร็จภายใน 1-2 วัน เนื่องจากโทรศัพท์รุ่นใหม่ที่ภาพถ่ายออกมาสวยมากๆ หรือใช้แอพลิเคชั่น ทำให้ถ่ายภาพไม่ผ่านเป็นจำนวนมาก" นายลวรณ กล่าว
ส่วนการที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2562 ลงเหลือ 2.7% นายลวรณ กล่าวว่า เป็นทิศทางเดียวกับหน่วยงานอื่นๆ ที่คาดการณ์ว่า GDP ไทยปีนี้จะขยายตัวที่ระดับ 2.8% บวกลบ