นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง กล่าวภายหลังเป็นประธานการเปิดสัมมนาของบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ในหัวข้อ "Global Risks & Thailand’s Economic Outlook ว่า ฟิทช์ฯ ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยในระยะยาวยังมีโอกาสที่ดีจากการที่รัฐบาลเดินหน้าแผนการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ประเทศไทยยังมีความน่าสนใจและได้รับความสนใจจากนักลงทุนในระดับโลก สะท้อนจากตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่พบว่านักลงทุนต่างชาติยื่นขอลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ฟิทช์ฯ ได้ปรับเครดิตของประเทศไทยขึ้นไปอยู่ในระดับที่มุมมองเป็นบวกจากเดิมอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะมีความผันผวนรุนแรง และหลายประเทศถูกปรับลดหรือคงอันดับเครดิตไว้เท่าเดิม ถือว่าไทยเป็นกลุ่มประเทศส่วนน้อยที่ฟิทซ์ฯ ปรับเครดิตของประเทศให้ดีขึ้น
"เหตุผลสำคัญที่ฟิทช์ เรทติ้งส์ ปรับเครดิตประเทศไทยมากขึ้น เพราะมองว่าเศรษฐกิจไทยระยะยาวมีโอกาสที่ดี จากที่รัฐบาลเดินแผนการพัฒนาประเทศได้ตามยุทธศาสตร์ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ประเทศไทยจึงเป็นที่สนใจของนักลงทุนระดับโลก สอดคล้องกับตัวเลขขอส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอที่เพิ่มขึ้น" นายอุตตม กล่าว
สำหรับความคืบหน้าเรื่องการขายหน่วยลงทุนกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์) รอบใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเปิดขายหน่วยลงทุนได้ในต้นปี 2563 ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างประสานหน่วยงานเจ้าของโครงการ 2-3 โครงการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการของกระทรวงคมนาคม เพื่อนำโครงการที่มีรายได้มาเข้าระดมทุนในกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ เพื่อไปลงทุนในโครงการใหม่ ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของกระตุ้นการลงทุนภาครัฐให้ได้มากและเร็วขึ้น
ด้านนายเจมส์ แมคคอร์แมค กรรมการผู้จัดการ หัวหน้ากลุ่มจัดอันดับเครดิตประเทศ ของฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าวว่า การปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศไทยที่ BBB+ เป็น "แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวก" เมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 เป็นผลมาจากการที่ฟิทช์มีความมั่นใจมากขึ้นว่าความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยังคงมีอยู่ไม่น่าจะส่งผลให้เกิดความชะงักงันในการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคในปัจจุบันซึ่งอยู่ในเกณฑ์ดี
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ผ่านอุปสรรคที่สำคัญทางการเมืองไปแล้วในช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่มาจากพลเรือนได้สำเร็จหลังจากมีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนมีนาคม นอกจากนี้ประเทศไทยยังคงสามารถรักษาฐานะหนี้สินต่างประเทศ (external finance) และฐานะการคลังสาธารณะ (public finance) ให้อยู่ในระดับที่ดีได้ต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ในขณะที่ปัจจัยเสี่ยงหลักต่อแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจคือ สถานการณ์การค้าโลกที่กำลังเผชิญกับความท้าทายมากขึ้น แม้ว่าความเสี่ยงดังกล่าวจะถูกบรรเทาลงได้บางส่วน จากนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นและการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มการลงทุนและสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะปานกลาง ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่สำคัญ ได้แก่ ความไม่แน่นอนในด้านนโยบาย โดยเฉพาะในด้านของผลกระทบต่อทิศทางการค้าโลก รวมถึงกำหนดการการถอนตัวจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (UK’s Brexit) ที่ใกล้เข้ามา ซึ่งอาจะส่งผลให้เกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ (recession) ของสหราชอาณาจักรและการชะลอตัวของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศ Euro Zone
ทั้งนี้ ฟิทช์เชื่อว่าการดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายโดยธนาคารกลางของประเทศต่างๆ อาจไม่สามารถชดเชยการชะลอตัวของปริมาณการค้าได้ทั้งหมด และรัฐบาลที่เป็นผู้กำหนดนโยบายอาจต้องหันไปพึ่งพานโยบายการคลังแบบขยายตัว (accommodative fiscal policy) มากขึ้น ซึ่งรวมถึงประเทศที่มีระดับหนี้สินที่อยู่ในระดับที่สูงอยู่แล้ว
นายพาสันติ์ สิงหะ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายจัดอันดับเครดิตสถาบันการเงิน บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยมีความพร้อมในด้านของการรับมือกับความผันผวนและในด้านการรองรับความเสี่ยงด้านสินเชื่อ และธนาคารไทยน่าจะสามารถเผชิญกับความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนหรือการชะลอตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์
อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของธนาคารไทยในระยะสั้น อาจถูกจำกัดด้วยความท้าทายจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้การชะลอตัวลงอย่างรุนแรงของเศรษฐกิจจีนน่าจะส่งผลกระทบในระดับที่สูงกว่าต่อตลาดที่พัฒนาแล้ว (developed market) เช่น ฮ่องกงหรือสิงคโปร์ ในขณะเดียวกันภาคการธนาคารที่มีความเสี่ยงสูงจากภาคอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ประเทศในตลาดที่พัฒนาแล้ว เช่น ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ส่วนประเทศในตลาดที่กำลังพัฒนาได้แก่ ประเทศมาเลเซีย