(เพิ่มเติม1) สภาพัฒน์ ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ปี 51 โต 4.5-5.5% หลัง Q4/50 โตถึง 5.7%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 25, 2008 12:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) ปรับคาดการณ์แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจ(GDP)ไทยในปี 51 เพิ่มเป็น 4.5-5.5% ซึ่งสูงกว่าเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 4.0-5.0% และจากปี 50 ที่ GDP เติบโต 4.8% เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาดตั้งแต่ไตรมาส 4/50 ประกอบกับการส่งออกช่วงปลายปี 50 และเดือน ม.ค.51 ยังมีแนวโน้มที่ดี  
นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ สภาพัฒน์ เชื่อว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจปี 51 จะมีลักษณะที่สมดุลมากขึ้นจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ โดยมีปัจจัยหนุน เช่น การดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล อัตราดอกเบี้ยต่ำ ความเชื่อมั่นของประชาชนและภาคธุรกิจดีขึ้น แต่ทั้งนี้ยังมีข้อจำกัดจากปัจจัยภายนอก คือราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะสหรัฐ
*GDP ไตรมาส 4/50 โต 5.7%,ทั้งปี 50 โต 4.8%
เลขาธิการสภาพัฒน์ แถลงว่า GDP ช่วงไตรมาส 4/50 ขยายตัว 5.7% สูงกว่าการขยายตัวเฉลี่ย 4.4% ในสามไตรมาสแรก และการขยายตัวเริ่มมีความสมดุลมากขึ้น แม้ว่าการส่งออกสุทธิจะยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก แต่การใช้จ่ายรัฐบาลก็เพิ่มขึ้นมากและการใช้จ่ายและการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ทั้งปี 50 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 4.8%
ภาพรวมเศรษฐกิจยังมีเสถียรภาพ แต่แรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ในไตรมาสสี่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเท่ากับ 2.9% สูงกว่าเฉลี่ย 2.0% ในสามไตรมาสแรก ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 6.18 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ทั้งปีอัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 2.3% ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 14.92 พันล้านดอลลาร์หรือ 6.1% ของ GDP และอัตราการว่างงานเฉลี่ยเท่ากับ 1.4%
ตลอดปี 50 ที่ผ่านมามีปัจจัยที่สนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ ประกอบด้วย ภาวะเศรษฐกิจของประเทศส่งออกสำคัญของไทยขยายตัวสูงและเอื้อประโยชน์ต่อการส่งออกของไทย การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรัฐบาลและงบลงทุนรัฐวิสาหกิจอย่างต่อเนื่อง อัตราดอกเบี้ยต่ำลงในครึ่งแรกของปี และความเชื่อมั่นผู้บริโภคและภาคธุรกิจเริ่มดีขึ้นในช่วงปลายปี
*มองปี 51 ปัจจัยภายในประเทศปรับตัวดีขึ้น
เลขาธิการ สภาพัฒน์ กล่าวว่า การใช้จ่ายและการลงทุนทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐ ตลอดจนการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งฟื้นฟูและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เช่น การเร่งรัดโครงการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้า การปรับโครงสร้างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพื่อให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ดีกว่าในอดีตท่ามกลางภาวะราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้น
ส่วนปัจจัยภายนอกที่จะช่วยให้ GDP ของไทยในปี 51 ขยายตัวได้ 4.5-5.5% นั้นมาจากสมมติฐานว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวที่ระดับ 4.1% และราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 80-85 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
ขณะที่ปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศยังขึ้นอยู่กับการส่งออก รองลงมาเป็นการลงทุนภาคเอกชนที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ถึง 50% ของการลงทุนทั้งหมด
"ถ้าบรรยากาศการลงทุนของภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ตรงนี้จะเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตัวที่สองรองจากภาคการส่งออก" นายอำพน กล่าว
*การส่งออกยังไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาซับไพร์ม
นายอำพน กล่าวว่า เท่าที่วิเคราะห์ดูแล้วพบว่าปัญหาซับไพร์มยังไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออก โดยการส่งออกในเดือน ม.ค.ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง และหวังว่าการส่งออกทั้งปียังสามารถเติบโตได้ดี หากรัฐบาลยังมีนโยบายที่จะหาตลาดใหม่เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง การดูแลวินัยการเงินการคลัง
"เราหวังว่าการส่งออกทั้งปีหากรัฐบาลดำเนินการต่อเนื่อง ทั้งกระจายตลาดส่งออก ดูแลวินัยการเงินการคลัง ก็จะทำให้ปัญหาซับไพร์มที่เคยมองว่าเป็นผลกระทบต่อไทยโดยตรงนั้นไม่น่าจะเป็นผลกระทบที่มีนัยสำคัญได้" นายอำพน กล่าว
สำหรับการแข็งค่าของเงินบาทจะมีผลกระทบกับผู้ประกอบการรายย่อย ส่วนรายใหญ่สามารถที่จะปรับโครงสร้างการผลิตไว้รองรับผลกระทบดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว แม้ช่วงปี 50 ที่ผ่านมาเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นราว 7% แต่อุตสาหกรรมส่งออกหลักที่ช่วยขับเคลื่อนการส่งออกยังสามารถขยายตัวได้สูงเกินกว่า 25% ไม่ว่าจะเป็น อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นต้น
เลขาธิการ สภาพัฒน์ คาดว่า ในปี 51 ค่าเงินบาทจะอยู่ในระดับ 32-33 บาท/ดอลลาร์
*แนะรัฐบาลดำเนินมาตรการ 7 ข้อเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืน
สภาพัฒน์เสนอแนะ 7 แนวทางให้กับรัฐบาลที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืน ได้แก่ การสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคการลงทุน ด้วยการสานต่อนโยบายด้านการลงทุนภาครัฐเกี่ยวกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน, การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมาย, การดูแลปัญหาค่าครองชีพของประชาชน, การส่งเสริมการส่งออกไปยังตลาดใหม่, การส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัว, การผลักดันมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการปรับโครงสร้างการผลิตทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ