นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าในโครงการสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งกำหนดให้กลุ่มบริษัทเอกชนผู้ชนะประมูล หรือกลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่ม CPH) ต้องมาเซ็นรับงานในวันที่ 15 ต.ค.นี้ว่า การดำเนินการให้ CPH มาเซ็นรับงาน ถือเป็นการทำเพื่อชาติ เพราะถ้ารถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ยังคาราคาซังกันอยู่ จะทำให้ลดทอนความเชื่อมั่นนักลงทุนที่จะมาลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทำให้โครงการทั้งหมดจะเกิดปัญหาทันที ดังนั้น ตนจำเป็นต้องทำ ขณะที่โครงการอื่นที่เกี่ยวกับ EEC ภาครัฐจะเดินหน้าเต็มที่ การที่รัฐบาลออกจดหมายเรียกกลุ่ม CPH มาเซ็นสัญญา ก็เท่ากับทางนั้นรับทราบ
"มีการสื่อสารกันว่าตนหักกับกลุ่ม CP แต่ความเป็นจริง และไม่ได้เป็นเป็นเช่นนั้น...ขอให้เข้าใจว่าในฐานะรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องนี้อยู่ มันจำเป็นต้องทำงาน หากอยู่เฉยๆ จะจ้างทำไม และกลุ่ม CPH ก็ชนะการประมูลมาจะครบปีแล้ว จำเป็นต้องเดินหน้ากันเสียที เมื่อทางเอกชนเสนอราคาต่ำสุดถูกกว่าคู่แข่งประมาณ 6 หมื่นล้านบาท ก็ต้องยอมรับว่าภาครัฐเองยังตะลึงกับราคานี้ และพอใจมาก แน่นอนว่าพร้อมจะช่วยเหลือฝ่ายเอกชน แต่ก็ขอให้เป็นไปตามสัญญาที่ให้ไว้ อีกอย่างหนึ่ง ที่เราทำ เพราะมองถึงอนาคต เนื่องจากหากเซ็นรับงานไปทำแล้ว รู้ราคาแน่นอน เอกชนจะได้ไปคุยกับซัพพลายเออร์ได้ งานจะได้เดินหน้า และยิ่งไปกว่านั้น กรอบการยืนราคาไปถึงแค่วันที่ 7 พ.ย.นี้" นายอนุทินกล่าว
ส่วนกรณีที่กลุ่ม CPH ต้องการให้รัฐส่งมอบพื้นที่ครบ 100% จึงจะลงนามสัญญาก่อสร้างนั้น นายอนุทิน กล่าวว่า ตามสัญญากำหนดเรื่องการส่งมอบพื้นที่ไว้แค่ 50% และตอนนี้รัฐก็ทำได้ตามสัญญา ถ้าจะขอเพิ่มไปกว่านี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่ดูแลรับผิดชอบต้องไม่ยอมแน่นอน
ส่วนที่มีการบอกว่ากลุ่ม CPH กำลังหาแหล่งทุนนั้น ตนไม่ทราบ เป็นเรื่องของฝ่ายเอกชน แต่ส่วนตัวมองว่าผู้ชนะการประมูล แค่ต้องการเงื่อนไขที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ แต่เชื่อมั่นว่าด้วยศักยภาพ ฝ่ายเอกชนทำโครงการนี้ได้แน่นอน และขอยืนยันว่าภาครัฐจะทำทุกอย่างให้ถูกต้องตาม TOR
"คิดว่าวันที่ 15 ตุลาคม กลุ่ม CPH มาลงนามสัญญาก่อสร้างแน่นอน เพราะถ้าหากไม่มา จะต้องโดนแบล็กลิสต์จากรัฐ เป็นการเสียชื่อบริษัท ยิ่งกว่านั้น หมายถึงว่านอกจาก CP แล้ว กลุ่มบริษัทที่ร่วมทุนทั้ง บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ บจ.ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น บมจ.ช.การช่าง และ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ ก็จะได้รับผลกระทบในการประมูลงานรัฐในอนาคตด้วย เรียกว่าผลเสียมหาศาลจริงๆ" รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุขระบุ