นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังนำคณะกรรมการหารือร่วมกับสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อนำเสนอประเด็นต่างๆ ของภาคเอกชนต่อการผลักดันเศรษฐกิจ โดยมีประเด็นการหารือ ประกอบด้วย การส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ขอให้ปรับปรุงกฎระเบียบและการปฏิบัติตามเงื่อนไขของกองทุนด้านวิจัยและนวัตกรรม พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการเข้าใจชัดเจน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่สนับสนุนการประกอบธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งการจัดตั้งกองทุน Startup Fund ของกระทรวงฯ เป็นประโยชน์อย่างมาก
ในส่วนการส่งเสริม Talent Mobility ควรส่งเสริมให้อาจารย์และนักศึกษาได้มีโอกาสทำงานระหว่างเรียน เพื่อเรียนรู้และเพิ่มทักษะจากการปฏิบัติงานจริง รวมทั้งสนับสนุนทุนให้แก่นักศึกษา และอาจารย์ในการทำ Startup IDE
ในด้านการส่งเสริม Local economy เสนอให้ส่งเสริมนักธุรกิจรุ่นใหม่ หรือ YEC (Young Entrepreneur Chamber) รวมกลุ่มเป็นนวัตกรรมชุมชน และสนับสนุนการสร้างแพลตฟอร์มให้เกิดการแข่งขันนวัตกรรม รวมถึงสร้างช่องทางการเข้าถึงงานวิจัยและนวัตกรรม โดยขอให้ Regional Science Park ที่อยู่ในภูมิภาคทำงานเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ หอการค้าจังหวัด และ YEC เพื่อให้เกิดการพัฒนาสินค้าและบริการ โดยใช้งานวิจัยและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สอดรับกับความต้องการของตลาดผู้บริโภค
ในด้านปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนนั้น กระทรวงฯ ทราบปัญหาและอยู่ระหว่างปรับปรุงหลักเกณฑ์สำหรับกลุ่มจังหวัดให้น้อยลง เพื่อให้รับเงินกองทุนได้ง่ายขึ้น และได้มีการจัดตั้งกองทุน Young Startup Fund รองรับการพัฒนา Startup IDE ไว้แล้ว พร้อมทั้งได้วางแนวทางการพัฒนา IDE (Innovation Driven Enterprise) เป็น 3 กลุ่ม คือ 1.Startup IDE 2.กลุ่ม SME ที่จะพัฒนาเป็น IDE และ 3.กลุ่มชุมชนนวัตกรรม ซึ่งจะมีนักศึกษาและอาจารย์ร่วมด้วย โดยทั้ง 3 กลุ่มจะขอให้กลุ่ม YEC ของหอการค้าซึ่งมีเครือข่าย อยู่ทั่วประเทศร่วมเป็นผู้สนับสนุน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของหอการค้า โดยจะจัดการประชุมกับกลุ่ม YEC ของหอการค้าเพื่อหาแนวทางการทำงานร่วมกันในเดือนตุลาคมนี้
นอกจากนี้ หอการค้าไทย เสนอการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยกลไก BCG (Bioeconomy, Circular Economy, Green Economy) เพื่อยกระดับศักยภาพและสร้างรายได้เกษตรกรให้สูงขึ้น โดยขอสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงฯ ในการทำวิจัยเพื่อพัฒนาสินค้าเกษตร โครงการ 1 ไร่ 1 ล้าน และจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการกำหนดพื้นที่เป้าหมาย พืชเป้าหมาย และระยะเวลาดำเนินการ
กระทรวงฯ เห็นด้วยกับโครงการและต้องการส่งเสริมให้โครงการสำเร็จอย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญว่ากลุ่มเป้าหมายคือใคร และกลุ่มใดบ้างที่จะเข้ามาช่วยเหลือ และให้เสนอว่าจะมีการดำเนินโครงการอย่างไร ซึ่งกระทรวงฯ พร้อมให้การสนับสนุนเนื่องจากกระทรวงมีเทคโนโลยีและเครื่องมือให้ใช้อย่างเพียงพอ
อีกทั้ง ขอให้กระทรวงฯ ขยายระยะเวลาในการสนับสนุนงบประมาณโครงการ ITAP ให้กับหอการค้าไทยผ่าน สวทช. เพื่อทำโครงการยกระดับสินค้าเกษตรโดยจัดทำมาตรฐาน ThaiGAP ที่จะสิ้นสุดในปีงบประมาณ 2563 ต่อไปอีก 3 ปี (ปี 2564-2566) ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาระบบ Application ระยะที่ 2 ให้มีความสะดวก รวดเร็ว และพัฒนาร่วมกับ Application อื่นๆ ที่เป็นมาตรฐานระดับสากล
ในด้านกลไกการบริหารเพื่อขับเคลื่อน BCG นั้น หอการค้าไทยเห็นด้วยที่รัฐบาลนำแนวคิด BCG มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อให้สามารถแข่งขันในระดับโลกได้ เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยขอเสนอให้มีเจ้าภาพหลักดำเนินการ และบูรณาการการทำงานข้ามกระทรวง เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากจะต้องทำงานร่วมกันหลายกระทรวง พร้อมทั้งขอให้ประชาสัมพันธ์ สื่อสารแก่ชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ ให้เกิดกลไกการประสานความร่วมมืออย่างจริงจัง โดยมีความเห็นเดียวกับกระทรวงฯ ที่จะเน้นด้าน Circular Economy เช่น การแยกขยะ การจัดการ Food waste และ Food surplus โดยให้ลงไปถึงระดับตำบลและอำเภอ
นายกลินท์ กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรเพื่อรองรับนโยบาย Thailand 4.0 โดยเสนอให้มีการจัดทำระบบศูนย์กลางประสานความร่วมมือ (Clearing House) เพื่อนำข้อมูลด้านความต้องการกำลังคนของภาคอุตสาหกรรม ภาคการค้า ภาคบริการ และข้อมูลด้านหลักสูตรของสถาบันการศึกษาต่างๆ มาพิจารณาร่วมกัน เพื่อให้สอดคล้องกับตามความต้องการที่แท้จริง รวมทั้งเสนอการจัดทำหลักสูตรดูแลผู้สูงอายุแบบเชิงลึก และหลักสูตรบริหารจัดการสถานประกอบการดูแลผู้สูงอายุ สำหรับการยกระดับทักษะและความรู้ (Upskill Reskill) โดยขอให้หน่วยงานภายใต้ อว. เป็นกลไกพัฒนาทักษะเรียนรู้แก่ผู้ที่ทำงานแล้ว เพื่อรองรับลักษณะงานที่เปลี่ยนแปลงโดยสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการพัฒนาทักษะตนเองมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ 2 เท่า
กระทรวงฯ เห็นด้วยกับข้อเสนอของหอการค้าไทย และมีความเห็นว่าในด้านหลักสูตรจะให้ความสำคัญ ทั้งหลักสูตรสำหรับเด็กเล็กและผู้สูงวัย ส่วนในด้านการพัฒนาทักษะ Upskill Reskill นั้นควรดูแลทั้งกลุ่มคนที่อยู่ในระบบ และกลุ่มที่ต้องการเปลี่ยนลักษณะอาชีพ (Career Migration) โดยจัดแบ่งเป็นประเภท Degree และ Non Degree และให้ความสำคัญกับความรู้พื้นฐานของการบริหารจัดการและการสร้างผู้นำชุมชน สำหรับค่าใช้จ่ายในการพัฒนาทักษะนั้นจะได้รับการลดหย่อนภาษี 2.5 เท่า และกำลังพิจารณาการ ออก education coupon เพิ่มอีกทางหนึ่ง