น.ส.ยุพิน เรืองฤทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายการกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ร่วมกับสถาบันการเงิน สภาวิชาชีพบัญชีฯ และผู้สอบบัญชี ผลักดันการใช้มาตรฐานการบัญชีสำหรับเครื่องมือทางการเงิน (Thai Financial Reporting Standard: TFRS 9) เพื่อให้งบการเงินของสถาบันการเงิน สะท้อนความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้ ส่งผลให้การรับรู้สำรองเร็วขึ้นตามสถานะของลูกหนี้ที่เปลี่ยนแปลงไป และสะท้อนฐานะการเงินที่แท้จริงของสถาบันการเงินอย่างทันการณ์ รวมทั้งสามารถเปรียบเทียบได้ในระดับสากล
โดย ธปท. เชื่อมั่นว่าสถาบันการเงินมีความพร้อม ทั้งด้านระบบงาน ฐานข้อมูล บุคลากร และกระบวนการปฏิบัติงาน เพื่อรองรับ TFRS 9 ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563
ทั้งนี้ TFRS 9 ได้ปรับเปลี่ยนหลักการสำคัญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกันเงินสำรอง จากแนวคิดเดิม
ที่คำนวณเงินสำรองจากความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว (Incurred Loss) เปลี่ยนเป็นคำนวณจากความเสียหาย
ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Loss (EL)) โดยกำหนดให้กันสำรองให้ครอบคลุมถึงเหตุการณ์ในอนาคตที่อาจส่งผลกระทบต่อลูกหนี้ (Forward-looking Information) โดยพิจารณาถึงสถานะหรือชั้น (Stage) ของลูกหนี้ ดังนี้
- ลูกหนี้ Stage 1 กลุ่มความเสี่ยงด้านเครดิตไม่เปลี่ยนแปลงจากวันแรกของการให้สินเชื่อ ให้กันเงินสำรองรองรับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นภายใน 1 ปีข้างหน้า (1-year EL)
- ลูกหนี้ Stage 2 กลุ่มที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และลูกหนี้ Stage 3 กลุ่มหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ให้กันเงินสำรองรองรับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นตลอดอายุของลูกหนี้ (Lifetime EL)
ซึ่งแตกต่างจากหลักการเดิม ที่ให้กันเงินสำรองเมื่อเกิดข้อบ่งชี้การด้อยค่า (Objective evidence of impairment) แล้วเท่านั้น เช่น มีการผิดนัดชำระหนี้ โดยสถาบันการเงินจะกันเงินสำรองตามอัตราที่ ธปท. กำหนด (ลูกหนี้ชั้นปกติ ชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ และ ชั้น NPL)
น.ส.ยุพิน กล่าวว่า การที่ ธปท. ผลักดันสถาบันการเงินให้มีความพร้อมในการใช้มาตรฐานการบัญชีฉบับใหม่ เนื่องจากต้องการให้สถาบันการเงินกันสำรองสำหรับสินทรัพย์ให้ครอบคลุมถึงความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยนำ TFRS 9 มาถือปฏิบัติให้เป็นไปตามแผนได้อย่างมีประสิทธิผล และไม่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงาน
ทั้งนี้ ธปท. ได้ทำการศึกษาหลักการ ผลกระทบ และสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสาธารณชนมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับระบบสถาบันการเงินสู่มาตรฐานระดับสากล และสนับสนุนการเติบโตของระบบเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน