(เพิ่มเติม) กยท.ร่วมมือ TTCL เพิ่มมูลค่าไม้ยาง หนุนใช้เป็นวัตถุดิบป้อนโรงไฟฟ้า ก้าวสู่ธุรกิจพลังงานชีวมวล

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 3, 2019 16:14 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ"โครงการจัดการสวนยางอย่างยั่งยืน ตามมาตรฐานในระดับสากล" กับบมจ. ทีทีซีแอล (TTCL) เพื่อมุ่งพัฒนาสวนยางตามมาตรฐาน ยกระดับและเพิ่มมูลค่าไม้ยาง ผลิตภัณฑ์ไม้ยางแปรรูป พร้อมหาช่องทางตลาดทั้งในและต่างประเทศให้แก่เกษตรกร

นายสุนันท์ นวลพรหมสุกุล รักษาการ ผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันพัฒนาและกำหนดเกณฑ์การจัดการสวนยางอย่างยั่งยืน ตามมาตรฐานในระดับสากลต่างๆ เช่น มาตรฐาน FSCTM, PEFCTM โดยให้เกษตรกรชาวสวนยางเข้ามามีส่วนร่วมปรับปรุง พัฒนาการจัดการสวนยางของตนเอง จะช่วยเพิ่มมูลค่าน้ำยางและไม้ยาง รวมไปถึงผลผลิตอื่น ๆ ในสวนยาง เช่น พืชแซมยาง พืชร่วมยาง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางอีกทางหนึ่ง โดยการนำไปจำหน่ายผ่านช่องทางตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถือเป็นการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมไม้ยางพาราและผลิตภัณฑ์จากไม้ยางพาราอย่างครบวงจร

สำหรับการลงนาม MOU กับ TTCL ในวันนี้ ทาง TTCL จะมีการรับซื้อเศษไม้ยางทั้งหมดจากเครือข่ายเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท.เพื่อนำไปผลิตเป็น Black Pellet ในโรงงาน Torrefied Biomass Pellet ทั้งโรงงานปัจจุบัน และที่กำลังจะขึ้นอีก 3 โรงที่ จ.สุราษฎร์ธานีและละแวกใกล้เคียงภายในปี 64

ที่ผ่านมา กยท.ได้จัดทำระบบมาตรฐานการจัดการสวนยางตามมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน มอก. 14061 มอก. 2861 PEFCTM และ FSCTM โดยร่วมกับสภาอุตสาหกรรม สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ รวมถึงสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ นอกจากนี้ กยท. ได้ยื่นขอการรับรองมาตรฐาน FSCTM ให้สวนยาง จำนวน 8,050 ไร่ โรงงานน้ำยางข้น และโรงงานแปรรูปไม้ยางของ กยท. เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ระบบการขอรับรองมาตรฐานให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง และเปิดรับเกษตรกรที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ โดยให้ปฏิบัติตามระบบมาตรฐานการจัดการสวนยางฯ เพื่อขอการรับรองต่อไป

"การร่วมมือกับ TTCL ครั้งนี้ จะทำให้เกษตรกรชาวสวนยางเข้ามามีส่วนร่วมปรับปรุง พัฒนาการจัดการสวนยางของตนเอง จากปัจจุบันทั้งประเทศมีสวนยางที่ได้คุณภาพจนได้ใบรับรองคุณภาพประมาณ 4-5 แสนไร่ จากสวนยางทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศ 22 ไร่ โดยใน 4-5 แสนไร่ที่ได้ใบรับรองคุณภาพนี้ กยท.ดำเนินการเอง 1.9-2 แสนไร่ ที่เหลือเอกชนดำเนินการเองซึ่งถ้าสวนยางได้คุณภาพ เป็นการเพิ่มมูลค่าให้ต้นยาง ไม้ยาง ขายสินค้าได้ราคาดีขึ้นเกษตรกรก็จะได้ประโยชน์ทางอ้อมด้วย"

นายสุนันท์ กล่าวต่อว่า สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ในวันพรุ่งนี้ (4 ต.ค.) จะมีการพิจารณาโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางที่ 60 บาท/กก.สำหรับยางแผ่นดิบ, น้ำยางสด 57 บาท/กก. และยางก้อนถ้วย 23 บาท/กก.ก่อนเสนอที่ประชุม ครม.

ส่วนที่ราคายางทรงตัวในช่วงนี้ เป็นผลมาจาก Trade War ประกอบกับช่วงนี้เป็นวันชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งทุกอย่างจะหยุดยาวเป็นเวลา 10 วัน ส่งผลให้ราคายางในไทยทรงตัวตามไปด้วย

ด้านนายจิรวัฒน์ สุกปลั่ง ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายขายและพัฒนาธุรกิจ TTCL กล่าวว่า ในอนาคตการพัฒนาธุรกิจพลังงานทดแทน จะเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญมากยิ่งขึ้น รัฐบาลหลาย ๆ ประเทศจึงมีนโยบายสนับสนุนการปรับเปลี่ยนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากการใช้ถ่านหินหรือผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสู่การใช้พลังงานทางเลือกและพลังงานสะอาด หนึ่งในนั้น คือ พลังงานทดแทนจากเชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งผลิตจากชิ้นส่วนไม้เล็ก ๆ ที่ไม่สามารถผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์หรือเครื่องใช้อื่น ๆ ได้

"การผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลเพื่อป้อนให้กับโรงไฟฟ้าอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง จำเป็นต้องมีชิ้นส่วนไม้ยางที่ผ่านการรับรองภายใต้มาตรฐานการจัดการสวนยางที่ยั่งยืนเป็นวัตถุดิบที่ต้องสำรองไว้สำหรับผลิตเป็นพลังงานเชื้อเพลิง ดังนั้น บริษัทจึงเล็งเห็นถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในการทำความร่วมมือกับ กยท. อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้เกิดมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนตามมาตรฐานสากลในสวนยางของเกษตกรที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท.ด้วย โดยบริษัทยินดีร่วมสนับสนุนการให้เกิดการรับรองมาตรฐานสวนยาง และจัดหาตลาดทางเลือกให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับยางพาราไทย สร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจยางพาราต่อไป"นายจิรวัฒน์ กล่าว

นายจิรวัฒน์ กล่าวว่า เนื่องจากเราผลิตเชื้อเพลิง Biomass ไปต่างประเทศ และเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีปริมาณการผลิตสูง ความต้องการใช้งานมีจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องเข้าถึงระดับชาวสวนยางเพื่อให้ปริมาณไม้ที่จะมาเข้าสู่โรงงานมีความแน่นอน

"ถ้าธุรกิจนี้สำเร็จ เป็นที่น่าพอใจ ตัวผลิตภัณฑ์ที่เราผลิตออกมาใช้งานได้เป็นที่น่าพอใจ ปริมาณความต้องการ Biomass อาจจะถึง 10 ล้านตันต่อปี แต่เรามีขีดความสามารถในการผลิต Biomass ของแต่ละโรงงานประมาณ 120,000 ตันต่อปี โดยกำลังผลิตเท่านี้จะต้องใช้เศษไม้ยางประมาณ 400,000 แสนตันต่อปีต่อโรง รวมทุกโรงงานอาจจะใช้เศษไม้ยางประมาณ 1 ล้านตัน"นายจิรวัฒน์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ