นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า กรมฯอยู่ระหว่างศึกษาการลดประเภทจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง จากปัจจุบันที่มีน้ำมันกลุ่มเบนซินและดีเซล จำหน่ายผ่านสถานีบริการรวมกันมากถึง 9 ประเภท ขณะที่รัฐบาลประกาศส่งเสริมน้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมไบโอดีเซล (B100) ในสัดส่วน 10% หรือ B10 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐาน ซึ่งจะมีผลตั้งแต่ 1 ม.ค.63 โดยจะหารือกับผู้ค้าน้ำมันและโรงกลั่นน้ำมัน เพื่อลดประเภทน้ำมันเบนซินลง 1 ประเภท จากปัจจุบันที่มี 5 ประเภท ได้แก่ เบนซิน 95 ,แก๊สโซฮอล์ 91, แก๊สโซฮอล์ 95, E20 และ E85 ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนภายใน 1-2 เดือน
ขณะที่การจำหน่ายน้ำมันดีเซล ปัจจุบันมี 4 ประเภท ได้แก่ B7 ,B10 ,B20 และ น้ำมันดีเซลเกรดพรีเมียม โดยคาดว่าการจะเริ่มลดประเภทน้ำมันกลุ่มเบนซินได้ภายหลังจากการที่ผลักดันการใช้ B10 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานแทน B7 เป็นผลสำเร็จก่อน
อย่างไรก็ตาม การจะปรับลดประเภทน้ำมันเบนซิน ยังต้องพิจารณาถึงสมดุลการผลิตของประเทศ สัญญาของคู่ค้า ที่จะส่งผลกระทบต่อโรงกลั่นน้ำมันหรือไม่ รวมทั้งเรื่องกลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฏหมายใหม่ ในเรื่องการลดการอุดหนุนเชื้อเพลิงชีวภาพในอนาคตด้วย ซึ่งทั้งหมดต้องนำมาประกอบการพิจารณาร่วมกัน
"การมีชนิดน้ำมันจำหน่ายมากเกินไปจะส่งผลให้ประชาชนสับสนและเกิดเป็นต้นทุนที่สูงขึ้นของปั๊มน้ำมันด้วย"นางสาวนันธิกา กล่าว
นางสาวนันธิกา กล่าวว่า สำหรับแผนการดำเนินงานเพื่อให้น้ำมัน B10 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63 นั้น กำหนดให้วันที่ 1 ต.ค.62 ผู้ค้าน้ำมันเพิ่มปริมาณการจำหน่ายน้ำมัน B10 ในสถานีบริการ จากปัจจุบันที่มีอยู่ 47 แห่ง และวันที่ 1 ธ.ค.62 ประกาศกำหนดลักษณะและคุณภาพของ B100 วันที่ 1 ม.ค.63 ทุกคลังของผู้ค้าน้ำมันมีการผลิต B10 และวันที่ 1 มี.ค.63 น้ำมัน B10 จะมีจำหน่ายในสถานีบริการน้ำมันทุกสถานี ส่วนน้ำมัน B7 จะเป็นน้ำมันทางเลือกสำหรับรถเก่าและรถยุโรป และน้ำมัน B20 จะเป็นน้ำมันทางเลือกสำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่
ทั้งนี้ ได้ขอความร่วมมือกับค่ายรถยนต์แต่ละยี่ห้อให้ระบุรายเอียดเกี่ยวกับอะไหล่ที่ต้องระมัดระวังสำหรับรถยนต์รุ่นเก่า ที่พ้นการรับประกันของค่ายรถยนต์ไปแล้วว่าหากใช้น้ำมัน B10 จะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง ซึ่งกรมฯจะนำข้อมูลดังกล่าวไปจัดทำเป็นคู่มือสำหรับแจกจ่ายประชาชนให้เกิดความรู้ความเข้าใจต่อไป แต่ยืนยันว่า B10 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานที่มีคุณภาพไม่กระทบต่อเครื่องยนต์ของผู้บริโภค และยังช่วยลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ รวมทั้งลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) และช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย โดยปัจจุบันรถยนต์รุ่นเก่าที่สามารถใช้ได้เฉพาะน้ำมันดีเซล B7 มีจำนวน 5 ล้านคัน จากรถยนต์ดีเซลทั้งหมด 10 ล้านคันทั่วประเทศ
การกำหนดให้ B10 เป็นน้ำมันดีเซลพื้นฐานยังจะมีส่วนช่วยส่งเสริมการใช้ B100 ในภาคพลังงานให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน โดยมีเป้าหมายในการสร้างสมดุลปาล์มน้ำมันทั้งระบบของประเทศให้มีความยั่งยืน โดยการกำหนดเป้าหมายการใช้ B100 ให้ได้ประมาณ 7.0 ล้านลิตร/วัน ซึ่งจะสามารถดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ได้ประมาณ 2 ใน 3 ของปริมาณการผลิตทั้งหมดของประเทศในปัจจุบัน หรือประมาณ 2.2 ล้านตัน/ปี
ด้านนายพงษ์ชัย ชัยจิรวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บีบีจีไอ ในเครือบมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) กล่าวว่า บริษัทลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงการผลิต B100 ให้ได้มาตรฐานใหม่ที่กำหนด เพื่อให้มีความพร้อมจะนำมาผสมในน้ำมันดีเซล เพื่อจำหน่ายในมาตรฐาน B10 อย่างไรก็ตาม จะส่งผลให้กำลังผลิตแต่ละโรงงานปรับลดลงราว 10-15% จากปัจจุบันทั้ง 2 โรงงานมีกำลังผลิตรวม 1 ล้านลิตร/วัน ดังนั้น บริษัทกำลังศึกษาว่าจะทำอย่างไรให้กำลังผลิตเท่าเดิม ซึ่งคงจะต้องมีการลงทุนเพิ่มเติมอีก
"โรงงานไบโอดีเซล ขณะนี้ทยอยปรับปรุง B100 ให้เป็นไปตามมาตรฐานใหม่ที่กำหนด แต่ที่ยังมีปัญหาคือเรื่อง มาตรฐานน้ำใน B100 ว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะให้ได้มาตรฐานตั้งแต่โรงงานไบโอดีเซล แต่ในช่วงขนถ่าย เพื่อนำไปผสมเป็น B10 ก็อาจจะมีปัญหาน้ำปนเปื้อนและมาตรฐานอาจจะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อไปผสม B10 ที่โรงกลั่นหรือคลังน้ำมัน จึงจะต้องหารือกับภาครัฐว่าในส่วนนี้ว่าควรดำเนินการอย่างไร"นายพงษ์ชัย กล่าว