พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการจัดงาน"ดิจิทัล ไทยแลนด์ บิ๊กแบง 2019" ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ว่า เป็นงานที่นำเสนอความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ดี แต่อยากให้พิจารณาควบคู่กับการเชื่อมโยงถึงโครงการสำคัญของรัฐบาล ทั้งในส่วนของระบบสาธารณสุข เรื่องเหตุฉุกเฉิน เพิ่มผลผลิตทางเกษตร ตรวจสอบสภาพป่า เตือนภัยพิบัติ ต้องใช้ให้ได้จริง ให้ชาวบ้านได้ประโยชน์ พร้อมเรื่องกฎหมายควบคู่ไปด้วย และให้ดำเนินการอย่างระมัดระวัง
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้สั่งการให้ดีอีหามาตรการสร้างแรงจูงใจเด็กให้เข้ามาเรียนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพิ่มขึ้น เพื่อให้เรียนได้ ใช้เป็น ทั้งเรื่องโค้ดดิ้ง เทคโนโลยีหุ่นยนต์ ฯลฯ เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นโปรแกรมเมอร์ โดยมองว่า เทคโนโลยีดังกล่าวเด็กสนใจอยู่แล้ว แต่ยังขาดโอกาส ต้องหาทางว่าจะดึงเด็กกลุ่มนี้เข้ามาได้อย่างไร โดยจัดเป็นหลักสูตรระยะสั้นเพื่อต่อยอดให้นักศึกษาในระดับอุตมศึกษา
"ขอเสนอให้จัดหลักสูตรระยะสั้น ต่อยอดให้กับเด็กมหาวิทยาลัยที่จะขึ้นชั้นปี 3 และ 4 เพื่อออกมาทำงานตอบสนองตลาดแรงงานที่เพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับการเรียน ไม่ต้องรอให้เด็กจบปี 4 แล้วออกมาทำงาน อาจจะนานเกินไป เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณเพื่อพัฒนากำลังคน และเพิ่มเงินให้กับบีโอไอ เพื่อส่งเสริมการลงทุนทางด้านดิจิทัลแล้ว ซี่งสามารถดำเนินการได้ทันที" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ด้าน นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า ดีป้ากำลังจะจัดตั้ง "โดรนยูนิเวอร์ซิตี้" เพื่อเขียนโค้ดป้อนโดรน ซึ่งจะดำเนินการได้เลยคือ การล้างเครื่องบิน ล้างตึก ล้างกระจก ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ส่วนข้อห่วงใยของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการเพิ่มผลผลิตกำลังคนด้านดิจิทัลนั้นมีมาตรการให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน ตั้งแต่การสรรหาเด็กให้มาเรียน เมื่อจบแล้วสามารถทำงานได้ทันที ส่วนมาตรการเชื่อมโยงโครงการภาครัฐได้ดำเนินการแล้วในส่วนของสาธารณสุขคือ การใช้โดรนขนคนเพื่อช่วยเหลือในเหตุฉุกเฉิน ภัยพิบัติ ภูเขาไฟระเบิด ฯลฯ