"สมคิด"ชี้ไทยประกาศ Marketing Nation หวังยืนหนึ่งในอาเซียน พร้อมร่วมแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำ-สิ่งแวดล้อม

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 7, 2019 14:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงาน "World Marketing Summit:ASIA 2019" ว่า Marketing Nation เป็นสิ่งสำคัญมากที่จะทำให้ประเทศพัฒนาต่อไปได้ โดยหลายปีที่ผ่านมา ศาตราจารย์ ฟิลิป คอตเลอร์ S.C.Johnson & Son Distinguished Professor of International Marketing Kellogg School of Management , Northwestern University ได้ให้ความหมายจากเดิมMarketing เน้นที่ธุรกิจ เน้น 4P ได้ปรับเปลี่ยนให้มองทั้งธุรกิจ การเมือง สังคม การแข่งขันเชิงภูมิศาสตร์ ทั้งหมดอยู่ใน Marketing Concept

"ทำไมไทยต้องเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) เชื่อมโยงกับจีน One Belt One Road ทำไมต้องลงทุนเมกะโปรเจ็คท์ ลงทุนใน EEC ลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ และประกาศตัวเองเป็น Hub CLMVT เป็น Hub ASEAN เป็นศูนย์กลางอาเซียน ทั้งหมดนี้คือ Marketing of Nation และสามารถทำให้จีนประกาศเราเชื่อมโยงกับจีนแล้ว รวมทั้ง จีนและญี่ปุ่น ประชุมร่วมกันว่าจะลงทุนประเทศที่ 3 ก็คือไทย"

นายสมคิด กล่าวว่า การตลาดไม่ใช่เฉพาะเรื่องสินค้า Price Promomotion แต่การตลาดแทรกซึมไปทุกอนูเรื่องของสังคม เรื่องการแข่งขัน เรื่องการเมือง เพราะฉะนั้น วันนี้ประเทศต่างๆในอาเซียนนอกจากร่วมมือกัน และก็ยังแข่งขันกันด้วยเพื่อชิงธงการเป็นผู้นำของอาเซียน นอกจากนั้น มองจากวันนี้ไปข้างหน้าโลกไม่ใช่มีเฉพาะการแข่งขันระหว่างประเทศ การแข่งขันเฉพาะธุรกิจ แต่โลกกำลังเผชิญความเสี่ยงภัยรุนแรงจากสิ่งแวดล้อม ความเสี่ยงภัยจากความทุกข์ยาก ความเสี่ยงภัยกับการกระจายรายได้

ปัจจุบันมี 2 กระแสที่มาค่อนข้างแรง คือ ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ถ้าไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้โลกจะมีปัญหาแน่นอน และเกิดความสับสนวุ่นวาน คนจนจะยิ่งจนลง ระบบทุนนิยมสร้างความมั่งคั่งแต่ไม่สามารถกระจายออกไป ซึ่งจะเป็นชนวนของความเปลี่ยนแปลง

และการผลักดันให้เกิดความยั่งยืนของโลก เห็นจากการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม ขยะ หลายอย่างที่มองแล้วเห็นว่าโลกนั้นไม่มีความยั่งยืน เพราะฉะนั้นกระแสที่ทำให้โลกอยู่อย่างยั่งยืนกำลังเป็นกระแสที่แรงในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ขณะที่กลุ่มธุรกิจจากเดิมไม่ค่อยสนใจสิ่งเหล่านี้นัก ก็เริ่มตระหนักว่าในอนาคตข้างหน้าสิ่งนี้ควรจะอยุ่ในดีเอ็นเอของนักธุรกิจด้วยซ้ำ หากเราสามารถดูแลรับผิดชอบโลกดีได้ ก็จะเป็นที่ยอมรับของสังคม สร้างแบรนด์ Royalty และหลายอย่างที่ทำให้บริษัทดีขึ้น ฉะนั้น Growth Strategy เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องร่วมกันมีส่วนร่วมทำให้โลกดีขึ้น เรื่องนี้ไม่ใช่ของง่าย แต่ก็เห็นกระแสแนวคิดเติบโตในไทย ขณะนี้บริษัทใหญ่ๆ หลายบริษัทได้เริ่มแนวคิดนี้แล้ว

ขณะที่ ศาสตราจารย์ฟิลิป กล่าวในหัวข้อ"Better Business in Asia and Beyond" ว่า ประเทศที่ดีต้องทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์สาธารณะ เช่น การศึกษาแบบให้เปล่า มีหลักประกันสุขภาพ ทุกคนได้รับประโยชน์สาธารณะจากคนที่จ่ายเงินภาษี และชี้ให้เห็นว่า CEO เป็นบุคคลที่ได้รับเงินเดือนสูงกว่าพนักงานทั่วไป การเก็บภาษีที่สูงกว่าคนอื่น และเก็บภาษีจากความมั่งคั่ง เช่นเดียวกับธุรกิจที่ไม่ใช่ทำงานให้แค่ผู้ถือหุ้น กำไรไม่ได้สร้างมาจากคนคนเดียว ยังมีลูกจ้าง ซัพพลายเออร์ ดิสทริบิวชั่น สังคม ฉะนั้นธุรกิจจึงต้องตระหนักว่ากำไรถูกสร้างมาจากหลายส่วน

แนวคิดเดิมธุรกิจที่จ่ายค่าจ้างถูกสุด และมีต้นทุนซัพพลายเออร์ถูกสุด เป็นสิ่งที่ทำให้ต้นทุนต่ำสุด เพื่อหวังกำไรให้ได้มากที่สุด แต่ปัจจุบันเริ่มให้ความสำคัญกับการทำกำไรที่แบ่งปันให้กับสังคม ซึ่งเศรษฐีรุ่นใหม่ไม่เพียงให้ความสำคัญกับแบรนด์ แต่ยังให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะ และให้ความสำคัญกับการแก้ไขความยากจนด้วย

แนวคิดการตลาดแบบใหม่ การสร้างรายไดกำไรโดยให้ความสำคัญโลกใบนี้ เหมือนเช่นประเทศภูฎาณที่มีดัชนีชี้วัดความสุข หรืออย่างฟินแลนด์ให้ความสำคัญดัชนีความสุขเช่นกัน ดังนั้น People Planet และ Profit เป็นการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ในโลกที่ผู้บริโภคไม่ได้เลือกซื้อสินค้าและการให้บริการจากที่คำนึงถึงราคาเพียงอย่างเดียว แต่ให้ความสนใจกับธุรกิจที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อผู้บริโภค

นอกจากนี้ ยังได้เปิดตัวดัชนีชี้วัดโลกที่ดีกว่า (BETTER WORLD INDEX:BWi) ที่เกิดจากการพัฒนาร่รวมกันระหว่างศาสตราจารย์ฟิลิป และ บริษัท BRANDi เพื่อใช้เป็นกรอบในการพัฒนาองค์กรในแบบฉบับตนเอง โดยยกระดับการวัดเป้าความสำเร็จจาก Single Bottom Line สู่ Triple Bottom Line จึงกล่าวได้ว่า BWi นับเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงความสำเร็จผ่านความร่วมมือทั้งจากภาคธุรกิจ ภาครัฐ และภาคประชาชน สู่การเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ (Economic Growth) สังคม (Well-being) และสิ่งแวดล้อม (Environment Enhancement) ควบคู่กันไปแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ