เครือซีพีค้านมาตรการตรึงราคา แนะปล่อยตามกลไกตลาด หันเพิ่มค่าแรงแทน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 25, 2008 16:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          เครือเจริญโภคภัณฑ์(ซีพี)ไม่เห็นด้วยกับมาตรการตรึงราคา เชื่อส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย แนะรัฐบาลควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งเป็นแนวโน้มเดียวกับตลาดโลก ขณะที่หันไปปรับขึ้นราคาค่าแรงขั้นต่ำให้กับผู้ใช้แรงงานหรือผู้มีรายได้น้อยแทน เพื่อมีรายได้เพิ่มสอดรับกับราคาอาหารและสินค้าอุปโภคบริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น 
นายอาชว์ เตาลานนท์ รองประธานกรรมการ เครือซีพี มองว่า การที่รัฐบาลตรึงราคาสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตร หรือเนื้อสัตว์ เป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้น เพราะแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกยังปรับตัวสูงขึ้น หากฝืนด้วยการตรึงราคาไว้เช่นนี้ไม่เพียงกระทบเกษตรกรรายย่อยซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ยังจะส่งผลกระทบต่อจีดีพีของประเทศด้วย
ดังนั้น ไทยควรจะใช้โอกาสที่ราคาสินค้าเกษตรปรับขึ้นทั่วโลกสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในประเทศให้เพิ่มขึ้น เหมือนเช่นในสหรัฐ และ ยุโรป เป็นต้น
"มันจะดีถ้าเราปล่อยให้ราคสินค้าเกษตรลอยตัว เกษตรกรก็จะรวย ทุกอย่างราคาดี เศรษฐกิจก็จะดีตามไปด้วย แต่ถ้าเราไปกดราคา หรือ ตรึงราคา ไว้ เราก็จะมีปัญหา ราคาสินเค้าเกษตรไม่ได้ปรับขึ้นมาเป็นเวลานานแล้ว ตอนนี้เป็นโอกาส ถ้าไปอย่างนั้น ระยะต่อไป สินค้าเกษตรก็จะหายหมด" นายอาชว์กล่าว
นายอาชว์ เห็นว่า เมื่อปล่อยให้ราคาสินค้าเกษตรลอยตัว ทางรัฐบาลก็ควรปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้กับผู้ใช้แรงงาน ผู้มีรายได้น้อย หรือ ข้าราชการ เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่ถ้ายังคงตรึงราคาสินค้าเกษตรไว้ ก็เท่ากับให้โอกาสดีหลุดลอยไปอย่างน่าเสียดาย
ส่วนนายสารสิน วีระพล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร เครือซีพี กล่าวว่า แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกจากนี้ไปจะปรับขึ้ต่อนไปอีก 10-20 ปี ปีละราว 10-12% เป็นผลจากกระแสพลังงานทดแทน เช่น ข้าวโพด เป็นต้น จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้นจึงเป็นโอกาสของเกษตรกรที่จะขายสินค้าเกษตรได้ราคาดี แต่ก็ส่งมีผลต่อประเทศที่มีรายได้ปานกลาง รวมทั้งไทย ที่จะได้รับผลกระทบประมาณ 20% ส่วนประเทศที่พัฒนาแล้วกระทบเพียง 3%
ด้านนายวีรวัฒน์ กาญจนดุล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่บริหารอาวุโส เครือซีพี กล่าวว่า รัฐบาลไม่ควรจะแก้ปัญหาระยะสั้น 3-6 เดือน แต่ควรมองไปถึงระยะยาว เพราะหากรัฐเข้าไปตรึงราคา ทั้งๆที่ผู้ผลิตมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ก็จะทำให้ผู้ผลิตหรือเกษตรกรรายย่อยลดลง ขณะที่รายใหญ่ก็ไม่กล้าที่จะขยายกำลังการผลิต เพราะไม่ต้องการเสี่ยง และสถาบันการเงินเองก็คงยากที่จะปล่อยกู้สำหรับธุรกิจเกษตรที่มีภาวะเสี่ยงจากนโยบายรัฐบาล
แม้ว่าเครือซีพีจะเป็นผู้ผลิตเนื้อสัตว์รายใหญ่ เช่น กรณีเนื้อหมู แต่เครือซีพีเป็นเพียงผู้ขยายหมูพันธุ์ และมีรายย่อยเป็นผู้เลี้ยงในนลักษณะ contract farming ดังนั้นการตรึงราคาจึงไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาถาวร อย่างไรก็ดี ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เครือซีพีไม่มีแผนขยายการผลิตเนื้อไก่เนื้อหมูในประเทศ แต่หันมาผลิตเนื้อสัตว์แปรรูปมากกว่า และขยายการเลี้ยงสัตว์ไปประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว กัมพูชา พม่า เป็นต้น
"การตรึงราคาเท่ากับไปตรึงรายได้เกษตรกร ไม่ใช่เป็นการแก้ไขปัญหาถาวร ถ้าตรึงราคา รายย่อยก็จะล้มหายตายจากไป รายใหญ่ก็ไม่กล้าขยาย ปัญหาก็จะลากยืดเยื้อไปหมด" นายวีรวัฒน์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ