นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมหารือคณะทำงานวอร์รูม ซึ่งจะมีการรายงานต่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ประธานคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนกระทรวงพาณิชย์ (กรอ.พณ.) ต่อไป โดยวอร์รูมได้หารือในประเด็นสำคัญ คือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน และ Brexit ที่ใกล้ถึงกำหนดวันที่สหราชอาณาจักร (UK) ต้องออกจากสหภาพยุโรป (EU) รวมทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าโลกที่อ่อนแอและชะลอตัว เพื่อประเมินผลกระทบและเตรียมหาแนวทางรองรับปรับตัวของไทย
โดยที่ประชุมมีความเห็นว่า ปัจจุบันมีความเสี่ยงจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนรอบด้าน ทำให้นอกจากต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้ารองรับโดยเน้นเรื่องการส่งออกแล้ว ยังต้องแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงในระยะยาวที่จะมีขึ้นจากความขัดแย้งของสองประเทศใหญ่อีกด้วย โดยปัจจุบันการส่งออกมีสัดส่วนประมาณ 70% ของ GDP ประเทศไทยพึ่งพาเศรษฐกิจระหว่างประเทศสูง เมื่อมีความเสี่ยงจากภายนอกจึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศ จึงควรให้ความสาคัญกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศด้วย
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีข้อสรุปแบ่งได้เป็น 4 เรื่องหลัก คือ
1) การเตรียมรับมือการเบี่ยงเบนการค้า ป้องกันสินค้าที่ไหลเข้ามาที่มีความเสี่ยงในการสวมสิทธิ โดยกระทรวงพาณิชย์มีมาตรการและติดตามใกล้ชิดอยู่แล้ว
2) การส่งออก เน้นการขยายสินค้าไปเพิ่มในประเทศต่าง ๆ และหาแนวทางบรรเทาผลกระทบค่าเงินบาทแข็งค่าที่มีผลกระทบต่อการส่งออก ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังดูแลเรื่องนี้ แต่การที่เงินบาทแข็ง ก็เป็นโอกาสที่จะไทยจะใช้ประโยชน์จากการนำเข้าเพื่อปรับพอร์ตประเทศใหม่
3) การเจรจา มีแผนการเจรจาไทย-อียู ไทย-อังกฤษ และยังเน้นเร่งการเจรจาอาร์เซ็ปให้เสร็จภายในปีนี้
4) การลงทุน นอกจากการส่งเสริมการลงทุนในประเทศแล้ว ยังควรส่งเสริมให้นักธุรกิจไทยไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มขึ้นด้วย ต้องเร่งการดึงดูดการลงทุนโดยตรงให้เพิ่มมากขึ้น เพราะผลจากสงครามการค้าทำให้มีการย้ายฐานการผลิตจากจีนไปยังประเทศอื่นหลายประเทศ ซึ่งไทยจะต้องมีนโยบายและมาตรการดึงดูดการลงทุนที่เอื้อต่อการเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และคณะกรรมการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ก็ดำเนินการอยู่
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เห็นว่า ในระยะสั้นไทยอาจจะเน้นกระตุ้นการลงทุนและการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น โดยอาจเพิ่มมาตรการส่งเสริมการใช้สินค้าไทย การลงทุนในสาขาที่คนไทยเป็นผู้ประกอบการมากและมีความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Added) ให้สินค้าไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระยะยาวด้วย
ขณะที่ข้อเสนอของภาคเอกชน เช่น ด้านการส่งเสริมการลงทุน นอกจากจะเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-Curve แล้ว ขอให้รัฐบาลทบทวนการสนับสนุนการลงทุนที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปัจจุบันที่เป็นของคนไทยด้วย โดยอาจจะไม่ได้เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงมากนัก แต่ไทยมีศักยภาพ เช่น อาหาร ตลอดจนส่งเสริมการลงทุนไทยออกไปต่างประเทศ (Outward Investment) โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งรวมถึงการส่งออกธุรกิจแฟรนไชส์
ด้านการส่งออก ขอให้ภาครัฐช่วยดูแลต้นทุนทางการเงิน และผลกระทบจากค่าเงินบาท เช่น ลดต้นทุนกู้เงินและต้นทุนประกันความเสี่ยงการชำระเงินระหว่างประเทศ ตลอดจนดูแลต้นทุนโลจิสติกส์การค้าระหว่างประเทศ ผลักดันสินค้าไทยสู่แพลตฟอร์ม อีคอมเมิร์ซระดับโลก และส่งออกภาคบริการให้มากขึ้น
สำหรับประเด็นค่าเงินบาทแข็ง ที่ประชุมได้หารือถึงมาตรการต่างๆ เพื่อบรรเทาผลกระทบ เช่น ส่งเสริมการนำเข้าวัตถุดิบและชิ้นส่วนเพื่อการผลิตและแปรรูป การนำเข้าสินค้าทุนเพื่อยกระดับความสามารถในการผลิตและเตรียมความพร้อมเพื่อปรับโครงสร้าง ส่งเสริมการนำเข้าสำหรับภาคบริการเพื่อส่งเสริมธุรกิจ โลจิสติกส์และการศึกษา เป็นต้น
ทั้งนี้ แนวทางต่าง ๆ จะพิจารณากันในรายละเอียดเพิ่มเติม ก่อนนำเสนอต่อคณะทำงาน กรอ.พาณิชย์ ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน ได้พิจารณาในเดือนตุลาคมนี้ต่อไป