นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) สมัยพิเศษ ครั้งที่ 9 และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เป็นประธานการประชุม
โดยการประชุมครั้งนี้ รัฐมนตรี RCEP จะร่วมกันตัดสินใจประเด็นระดับนโยบายในเรื่องที่ยังคงค้างอยู่ และดำเนินการตามความตั้งใจของผู้นำ ที่จะประกาศความสำเร็จการเจรจา RCEP ในปีนี้ โดยระหว่างวันที่ 10-11 ตุลาคม 2562 จะมีการประชุมระดับคณะกรรมการเจรจาจัดทำความตกลง RCEP ก่อนที่จะมีการประชุมระดับรัฐมนตรีในวันที่ 12 ตุลาคม 2562
นางอรมน กล่าวว่า การเจรจา RCEP ได้เดินทางเข้าสู่โค้งสุดท้ายของการเจรจาแล้ว โดยผลจากการประชุมคณะกรรมการเจรจา RCEP ครั้งที่ 28 ณ เมืองดานัง ประเทศเวียดนาม สมาชิกสามารถปิดดีลได้เพิ่มอีก 6 บท ทำให้ขณะนี้สรุปได้แล้ว 13 บท และ 3 ภาคผนวก จากทั้งหมด 20 บท และ 3 ภาคผนวก ประกอบด้วย บทบัญญัติพื้นฐานและคำนิยามทั่วไป, บทการค้าสินค้า, บททรัพย์สินทางปัญญา, บทบัญญัติทั่วไปและข้อยกเว้น, บทการระงับข้อพิพาท, บทบัญญัติสุดท้าย, บทบัญญัติเกี่ยวกับสถาบัน, บทพิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า, บทมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช, บทมาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และกระบวนการตรวจสอบและรับรอง, บทความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ, บทวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และบทการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ รวมถึงภาคผนวกภายใต้บทการค้าบริการ คือ ภาคผนวกโทรคมนาคม ภาคผนวกการเงิน ภาคผนวกวิชาชีพ
สำหรับอีก 7 บทที่เหลือ คือ บทการเยียวยาทางการค้า, บทการแข่งขัน, บทการค้าบริการ, บทกฎถิ่นกำเนิดสินค้า, บทการเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา, บทการลงทุน และบทพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะสามารถได้ข้อสรุปในปีนี้
ทั้งนี้ ความตกลง RCEP จะช่วยให้การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเข้มแข็ง และสร้างสภาวะแวดล้อมทางการค้าและการลงทุนที่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของภูมิภาค รวมถึงไทย ซึ่งสินค้าของไทยที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์เพิ่มเติมเมื่อเปรียบเทียบกับ FTA ที่ไทยมีอยู่ เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า, พลาสติกและเคมีภัณฑ์, ยานยนต์และชิ้นส่วน, ยางล้อ, เส้นใย, สิ่งทอ, เครื่องแต่งกาย, ผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลัง และกระดาษ เป็นต้น
นอกจากนี้ ความตกลง RCEP ยังมีส่วนช่วยส่งเสริมให้การออกกฎระเบียบ และมาตรการด้านการลงทุนมีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น และไม่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนจนเกินจำเป็น และช่วยสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปลงทุนในประเทศสมาชิก RCEP ในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ อาทิ ก่อสร้าง ค้าปลีก ธุรกิจเกี่ยวเนื่องด้านสุขภาพ ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับภาพยนตร์และบันเทิง ธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคนิคตัดต่อภาพและเสียง การผลิตแอนิเมชั่น และเปิดรับการลงทุนคุณภาพที่ไทยยังมีความต้องการ เพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาอุตสาหกรรมอื่นในประเทศ และต่อยอดเป้าหมายการส่งเสริมอุตสาหกรรม S-curve เช่น การวิจัยและพัฒนา, สิ่งแวดล้อม, โทรคมนาคม, คอมพิวเตอร์, การศึกษา, การซ่อมบำรุงชิ้นส่วนอากาศยาน เป็นต้น