นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า กำหนดการลงนามในสัญญาโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบินกับกลุ่มกิจการร่วมค้าซีพี คงต้องเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 25 ต.ค.จากกำหนดเดิมวันที่ 15 ต.ค. เนื่องจากคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ลาออกทั้งคณะ จึงต้องแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ก่อน โดยจะสรุปการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ภายในสัปดาห์นี้ เพื่อให้สามารถเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 15 ต.ค.
รมว.คมนาคม กล่าวว่า ได้ดูข้อกฎหมายเรื่องนี้จากพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (พ.ร.บ.EEC) และของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่าโครงการขนาดใหญ่ต้องนำเข้าบอร์ดพิจารณาอนุมัติ ก่อนนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงยังไม่สามารถลงนามได้ ซึ่งได้นำเรื่องนี้เสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เพื่อรับทราบแล้ว
"การลาออกของบอร์ดรฟท. เป็นเรื่องที่ไม่มีใครคาดถึงว่าจะมีการลาออก เพราะคณะกรรมการคัดเลือก เพิ่งจะมีการประชุมเมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา และวันที่ 30 ก.ย.ได้ออกหนังสือแจ้งการลงนามให้แก่ผู้ชนะประกวดราคา ต่อมาเมื่อวันที่ 1 ต.ค. เมื่อผู้ชนะการประกวดราคามารับหนังสือ ปรากฎว่าบอร์ด รฟท.กลับลาออกในวันเดียวกัน เราจึงต้องดำเนินการต่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย หากไม่มีบอร์ด รฟท. เราก็ไม่สามารถนำเรื่องนี้ให้ครม.รับทราบได้" นายศักดิ์สยาม กล่าว
ทั้งนี้ ทางคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะเรียกประชุม เพื่อแจ้งการเลื่อนวันลงนามด้วยเหตุผลที่จำเป็นดังกล่าว ในเวลา 15.00 น.วันนี้
สำหรับความคืบหน้าการแต่งตั้งบอร์ด รฟท.ใหม่ จำนวน 8 รายนั้น นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ได้ประสานไปทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติ คาดว่าน่าจะได้รายชื่อบอร์ดทั้งคณะเสนอต่อครม.ในวันที่ 15 ต.ค.นี้ หลังจากนั้น บอร์ดรฟท.ชุดใหม่จะรับรองโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการรถไฟไทย-จีนด้วย และนำส่งกระทรวงคมนาคมเพื่อนำเสนอต่อ ครม.ในวันที่ 22 ต.ค.นี้ จากนั้นวันที่ 25 ต.ค.จึงจะลงนามสัญญา ซึ่งยังอยู่ในเงื่อนเวลาก่อนวันที่ 7 พ.ย.62 ที่จะยืนราคา
"การเลื่อนเวลา เป็นประโยชน์ทั้งสองฝ่าย เอกชนก็จะได้ไปดูสัญญา...ผมพยายามยับยั้งการลาออกของบอร์ด รฟท. แต่บอร์ดส่งหนังสือลาออก และมีผลทันที" นายศักดิ์สยาม กล่าว
ส่วนความคืบหน้าการส่งมอบพื้นที่ 72% นั้น รมว.คมนาคม กล่าวว่า มีความพร้อมในการส่งมอบพื้นที่อยู่แล้ว โดยจะมีการนำแผนที่การก่อสร้างทั้งหมดใน 72% เข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ว่าอยู่บริเวณใดบ้าง สำหรับโครงการดังกล่าวจะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี บวกเวลาในการมอบพื้นที่ รวมเป็น 6 ปี จึงมีเวลาพอ โดยคิดว่าจะบริหารเรื่องนี้โดยใช้หลักการเดิมที่กระทรวงคมนาคมเคยบริหารในการก่อสร้างโครงการมอเตอร์เวย์สายใต้ ซึ่งขณะนั้นได้รับเงินจากไจก้า
นอกจากนี้ จะมีการนำเรื่องโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงไทย-จีน เข้าสู่ครม.ในวันที่ 15 ต.ค.นี้ เพื่อขอความเห็นชอบงานสัญญา 2.3 (งานระบบ) มูลค่าประมาณ 5 หมื่นล้านบาท เพราะเรื่องนี้จะนำเข้าสู่ในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 อีกด้วย