นายจุฬา สุขามานพ ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (FAA) ระบุในข้อกำหนดสมควรเดินอากาศ (Airworthiness Directive) ให้สายการบินทั่วโลกที่ใช้เครื่องบินตระกูลโบอิ้ง 737 สำหรับ รุ่น 737-600, 737-700, 737-700C, 737-800, 737-900, 737-900 และ 737-900ER เร่งตรวจสอบความสมบูรณ์บริเวณโคนปีกเครื่องบินและซ่อมแซมทันทีหากพบความเสียหาย หลังมีการตรวจพบรอยแตกร้าวของเครื่องบินในตระกูลนี้บางลำ เพราะเกรงว่าอาจทำให้สูญเสียการควบคุมและอาจเป็นต้นเหตุทำให้เครื่องบินตก
นายจุฬา กล่าวว่า สิ่งที่ FAA ออกประกาศเตือนน่าจะเป็นการพูดถึงการใช้งานเครื่องบินโบอิ้ง 737 โดยรวมทั่วโลก ไม่ได้ระบุชี้ชัดว่าสายการบินใดมีปัญหา เพราะก่อนหน้านี้ FAA ก็เคยออกประกาศเตือนมา 2-3 ประเด็นเกี่ยวกับเครื่องบินบางประเภทในบางรุ่น
และขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าสายการบินของไทยใช้เครื่องบินในรุ่นตระกูลดังกล่าวจำนวนมากน้อยเพียงใด และมีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายต่อปีกเครื่องบินหรือไม่ ต้องขอไปตรวจสอบก่อน แต่ความเสี่ยงของแต่ละรายอาจมีที่มาคนละเรื่องกัน อีกทั้งเป็นไปไม่ได้ที่ FAA จะเตือนโดยตรงไปที่สายการบินในประเทศไทย เพราะในทางปฏิบัติจะไม่ก้าวก่ายกิจการในประเทศอื่น
"เรื่องข่าวว่ามี 2 สายการบินของไทยใช้เครื่องโบอิ้ง 737 ที่เข้าข่ายต้องตรวจสอบปีกนั้น ผมก็ยังไม่เห็นข่าวและในทางปฏิบัติ FAA คงไม่มายุ่งเกี่ยวกัน"นายจุฬา กล่าว
ขณะนี้ กทพ.ยังไม่ได้สั่งการหรือดำเนินการใดๆ ต่อคำเตือนดังกล่าว เพราะจะต้องใช้เวลาศึกษารายละเอียดก่อนว่าเครื่องบินโบอิ้ง 737 ที่สายการบินในประเทศไทยใช้งานอยู่ในขณะนี้เป็นรุ่นที่เข้าข่ายความเสี่ยงดังกล่าวหรือไม่
"FAA ใช้กับกฎหมายของเขา เพราะเครื่องแต่ละเครื่อง ออกแบบมาไม่เหมือนกัน ประเทศไหนทำอะไรเป็นเรื่องของภายในของประเทศเขา เราไม่จำเป็นต้องทำตามทุกอย่าง ยกเว้นถ้าของเรามีความเสี่ยงแบบนั้นมากก็ค่อยมาว่ากัน..เราทำตามทุกคำเตือนของคนอื่นไม่ได้"นายจุฬา กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
ด้านนายถวัลย์ เทียนทอง ผู้อำนวยการฝ่ายซ่อมบำรุงและวิศวกรรมอากาศยาน สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ ซึ่งเป็นสายการบนที่ถูกระบุในรายงานข่าวว่าใช้งานเครื่องบินโบอิ้งรุ่นที่ FAA ออกคำเตือน กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ไทยไลอ้อนแอร์ไม่ได้รับผลกระทบจากกรณีนี้ เพราะทาง FAA สั่งตรวจเช็คเครื่องบินโบอิ้ง 737 ที่มีอายุใช้งาน 10 ปีขึ้นไป หรือมีการใช้งานเครื่องบินขึ้นลงมากกว่า 3.5 หมื่นเที่ยว แต่เครื่องบินของไทยไลอ้อนแอร์ มีอายุใช้งานเฉลี่ย 5-6 ปี หรือใช้งานมาไม่ถึง 1 หมื่นเที่ยวบิน
ทั้งนี้ ไทยไลอ้อนแอร์มีเครื่องบินโบอิ้ง 737-800 จำนวน 11 ลำ และเครื่องโบอิ้ง 737-900 จำนวน 19 ลำ รวม 30 ลำ
ส่วนเครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX ที่สายการบินไทยไลอ้อนแอร์เคยสั่งซื้อไว้จำนวน 3 ลำนั้น ปัจจุบันได้ตัดสินใจคืนให้กับบริษัทแม่ที่อินโดนีเซียที่มียอดสั่งซื้อ 187 ลำ เพราะทั่วโลกไม่ได้บินด้วยเครื่องบินรุ่นนี้แล้ว
ขณะที่มีรายงานข่าวจากวงการการบิน เปิดเผยว่า สายการบินนกแอร์ มีเครื่องบินโบอิ้งรุ่นที่เข้าข่ายต้องตรวจเช็ค 3 ลำ เพราะอายุใช้งานมากกว่า 10 ปี แต่ยังไม่ได้รับคำชี้แจงอย่างเป็นทางการจากฝ่ายบริหารของ บมจ.สายการบินนกแอร์ (NOK)