นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และหน่วยงานในสังกัดเร่งขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการเร่งด่วน 3 เรื่อง เพื่อรองรับการแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 3 ชนิด พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ที่ได้มีการยกเลิกการใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.62 เป็นต้นไปให้เร็วขึ้น
โดยแผนปฏิบัติการเร่งด่วน 3 เรื่อง ได้แก่ 1) เร่งส่งเสริมการใช้สารชีวภาพชีวภัณฑ์ทดแทน 3 สาร ซึ่งก่อนหน้านี้ได้สั่งการให้กระทรวงรวบรวมมาให้ได้มากที่สุดโดยให้ศูนย์วิจัยข้าวพืชไร่พืชสวนใช้ทดสอบในแปลงทดลองทุกภาคทั่วประเทศ 2) เสนอร่างพ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืน ฉบับที่ พ.ศ....ต่อสภาผู้แทนฯ โดยเร็ว ซึ่งขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนออยู่ในชั้นกฤษฎีกาแล้ว จากนั้นจะเข้าสู่คณะรัฐมนตรีเพื่อส่งเข้าสภาผู้แทนฯ ต่อไป ปัจจุบันมีพื้นที่เกษตรยั่งยืนกว่า 3 ล้านไร่ และจะให้ขยายเป็น 5 ล้านไร่ในเฟสที่หนึ่งโดยเร็ว
และ 3) ยกระดับการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ซึ่งขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ สามารถขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ได้ถึง 570,000 ไร่ ที่ผ่านการรับรองออการ์นิค มีอัตราเติบโตร้อยละ 16 ต่อปี เป็นอันดับ 7 ของเอเซีย โดยให้วางเป้าหมายว่าต้องเติบโตขยายตัวร้อยละ 25 ต่อปี เพื่อบรรลุเป้าหมายแรก 1 ล้านไร่ โดยกำลังพิจารณาจัดตั้งสถาบันเกษตรอินทรีย์แห่งชาติเป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนเกษตรอินทรีย์แบบบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน
"แผนเร่งด่วนรองรับนโยบายการแบน 3 สาร ซึ่งเป็นแผนการพัฒนาเกษตรกรรมแบบยั่งยืน จุดเปลี่ยนครั้งนี้สำคัญต่ออนาคตภาคเกษตรและอาหารของประเทศ จึงต้องมีมาตรการและแผนรองรับตอบโจทย์ทั้งระยะเฉพาะหน้าและระยะยาวตามแนวทางของท่านนายกรัฐมนตรี"นายเฉลิมชัย กล่าว
ด้านน.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะทำงานเพื่อพิจารณาความคิดเห็นของส่วนรัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกร และผู้บริโภค มีมติเห็นชอบให้ยกเลิกการใช้คลอร์ไพริฟอส พาราควอต และไกลโฟเซต โดยให้เปลี่ยนจากสารวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นสารวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 และให้ยกเลิกใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2562 เป็นต้นไป เนื่องจากมีข้อมูลในเชิงประจักษ์ว่าสารทั้ง 3 ชนิดดังกล่าวได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน
"ที่ประชุมมีมติร่วมกันว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2562 จะต้องไม่มีการใช้ 3 สารอันตรายดังกล่าวในประเทศไทยอีกต่อไป โดยร้านค้าที่มีสารดังกล่าวจำหน่าย จะต้องส่งคืนให้แก่บริษัททั้งหมด"น.ส.มนัญญา กล่าว
สำหรับผลสรุปจากการพิจารณาความคิดเห็นของทั้ง 4 ฝ่ายจะรวบรวมนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุ เพื่อทราบต่อไป รวมทั้งเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย วันที่ 27 ตุลาคม 2562 นี้ โดยผู้แทนของกระทรวงเกษตรฯ ที่จะเข้าไปเป็นคณะกรรมการวัตถุอันตราย ได้แสดงจุดยืนที่จะขอให้มีการลงมติโหวตอย่างเปิดเผยเพื่อให้เกิดความโปร่งใสด้วย
ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า เห็นด้วยตามข้อเสนอของนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในการยกเลิกสารเคมีดังกล่าว และ ทางกระทรวงสาธารณสุข ได้ขึ้นป้ายตามโรงพยาบาลทั่วประเทศแล้วว่า เห็นด้วยกับมาตรการนี้ ส่วนสารตัวใหม่ที่จะมีทดแทนตัวเก่านั้นจะต้องไม่ทำให้ประชาชนเจ็บป่วย
ส่วนการวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจมีนายทุนได้ประโยชน์จากการใช้สารทดแทนตัวใหม่นั้น นายอนุทิน กล่าวว่า สำหรับพรรคภูมิใจไทยไม่มีนายทุนคนไหนมีอิทธิพลเหนือพรรคได้