(เพิ่มเติม) "อนุทิน"หนุนแยกสัญญาโยธา-เดินรถ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก รอหารืออีกรอบ 10 ต.ค.นี้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 8, 2019 15:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เพื่อหาข้อสรุปรูปแบบการลงทุนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก (บางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย) ระยะทาง 35.9 กม. ระหว่างรูปแบบรัฐร่วมลงทุนกับภาคเอกชน (PPP) หรือจะเป็นรูปแบบที่กระทรวงคมนาคมเสนอ คือ การแยกงานโยธาให้รัฐเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนเอกชนรับผิดชอบงานเดินรถว่า ส่วนตัวเห็นด้วยกับแนวทางของกระทรวงคมนาคม เนื่องจากหลายโครงการก็ทำในรูปแบบนี้ และถือเป็นวิธีที่ช่วยกระจายความเสี่ยง สร้างรายได้ให้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้ รมว.คมนาคม ไปหาข้อสรุปตัวเลขการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด และให้นำกลับมารายงานให้ทราบในวันที่ 10 ต.ค.นี้

"ยืนยันว่า ไม่ได้เข้ามารื้อโครงการนี้ แต่ต้องการหารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสม และเกิดความคุ้มค่าต่อการลงทุนให้มากที่สุด และยังไม่ได้ข้อสรุปว่าที่จะนำเสนอเข้า ครม. ในสัปดาห์หน้าหรือไม่"

ส่วนการเลื่อนการเซ็นสัญญาลงนามก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)กับกลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (CPH)นั้น นายอนุทิน กล่าวว่า เนื่องจากคณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพิ่งลาออก จึงจำเป็นต้องมีการตั้งบอร์ดรฟท. ขึ้นใหม่ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) จะดำเนินการคัดเลือกและส่งรายชื่อให้ ครม.พิจารณาในสัปดาห์หน้า ส่วนสาเหตุที่บอร์ดลาออก ยืนยันว่าทั้งตนเอง และ รมว.คมนาคมไม่ได้บีบให้บอร์ดการรถไฟฯ ลาออกแต่อย่างใด

พร้อมกันนี้ ยืนยันว่า นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ไม่ได้ขอให้เลื่อนการเซ็นสัญญาออกไปเป็นวันที่ 25 ต.ค. ซึ่งตามขั้นตอน ต้องไปคุยกับคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ไม่ใช่มาคุยกับฝ่ายนโยบาย ซึ่งการลงนามในวันที่ 25 ต.ค.62 นั้นยังอยู่ในกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ในการลงนามถึงวันที่ 7 พ.ย.62 ซึ่งหากทุกอย่างตกลงกันได้ตาม RFP ก็จะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

ส่วนกรณีที่กลุ่ม CPH ออกมาระบุว่า เป็นการผลักภาระการลงทุนให้เอกชนฝ่ายเดียวทั้งที่เป็นการร่วมลงทุนนั้น นายอนุทิน เห็นว่า รัฐบาลไม่ได้บีบบังคับให้ใครมาประมูล ใครที่จะเข้าประมูลก็ต้องซื้อซองราคาเป็นหลักล้าน และใน RFP ก็มีการระบุเงื่อนไขในการประมูลอย่างชัดเจน และต้องปฎิบัติตาม ซึ่งทุกบริษัทที่เข้าร่วมประมูลต้องรับทราบอยู่แล้ว จะมีการต่อรองเรื่องใด ก็ต้องเป็นไปตามข้อตกลง RFP ที่รัฐและเอกชนต้องปฎิบัติตาม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ