นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.คมนาคม กล่าวในหัวข้อ"อนาคตเมกะโปรเจ็คต์"ในการสัมมนา"มองไปข้างหน้ากับรัฐบาลใหม่"เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมมีเป้าหมายลดการพึ่งพาการขนส่งทางถนนลงจากปัจจุลันที่มีสัดส่วนสูงถึง 86% ของการขนส่งโดยรวม เนื่องจากการขนส่งทางถนนมีต้นทุนสูงและใช้พลังงานเชื้อเพลิงมาก โดยจะส่งเสริมให้หันไปใช้การขนส่งทางระบบรางและทางน้ำให้มากขึ้น เพราะปัจจุบันการขนส่งทางน้ำ ซึ่งมีต้นทุนต่ำที่สุด มีสัดส่วนเพียง 12% และการขนส่งทางรางมีสัดส่วนเพียง 2% เท่านั้น
กระทรวงคมนาคมจะเดินหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ทั่วประเทศอีก 832 กิโลเมตร เป็นเส้นทางทางภาคเหนือ 418 กิโลเมตร ภาคอีสาน 78 กิโลเมตร และภาคใต้ 336 กิโลเมตร
ปัจจุบันการก่อสร้างรถไฟรางคู่แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรก เส้นทางฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง 78 กิโลเมตร ประกวดราคาเสร็จแล้ว รอการอนุมัติเซ็นสัญญา ส่วนระยะที่ 2 เป็นเส้นทาง ฉะเชิงเทรา-แก่งคอย 106 กิโลเมตร อยู่ระหว่างการทบทวนแบบก่อสร้าง
นอกจากนี้ จะเร่งผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงปานกลาง 150-200 กิโลเมตร/ชั่วโมง สำหรับการขนส่งคน โดยจะวิ่งในเส้นทางที่ห่างจากกทม.ราว 200-300 กิโลเมตร เช่น นครสวรรค์ นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ และระยอง เป็นต้น
ด้านการขนส่งทางน้ำนั้น จะมีการสร้างแนวเส้นทางขนชายฝั่งทะเล ที่เปรียบเสมือนเป็นมอเตอร์เวย์ทางน้ำ โดยมีเส้นทางปลายทางเช่น สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และสงขลา ตลอดจนการสร้างแนวเชื่อม West Gate เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งระหว่างฝั่งทะเลตะวันออกและฝั่งทะเลตะวันตก ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการขนส่ง อีกทั้งเป็นการสร้างโอกาสและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับประเทศ
--อินโฟเควสท์ โดย กษมาพร กิตติสัมพันธ์/ศศิธร/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--