นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง กล่าวถึงความคืบหน้ามาตรการชิมช้อปใช้ เฟส 2 ว่า คาดว่าจะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในเดือนต.ค.นี้ โดยขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณา เพราะต้องให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ตลอดจนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูรายละเอียดโครงการให้ชัดเจน เนื่องจากอาจให้สิทธิไม่ถึง 10 ล้านคนเหมือนเฟสแรก อาจจะให้สิทธิเพียง 5 ล้านคน มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดและเงื่อนไข รวมทั้งจะปรับเวลาลงทะเบียนมาเป็นช่วงกลางวันด้วย ส่วนงบประมาณที่จะใช้ในเฟส 2 นั้น กำลังดูในรายละเอียดก่อน
"คาดทำได้ไม่ช้า แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ ขอให้ สศค. ธนาคารกรุงไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูรายละเอียดให้ชัดเจน คาดว่าจะเสนอ ครม. พิจารณาได้ภายในเดือนนี้...มีความเป็นไปได้จะเพิ่ม cash back แต่ต้องไปดูเงื่อนไข เพราะต้องการให้มีการจับจ่ายใช้สอยในเมืองรองมากขึ้น ต้องไปดูในรายละเอียดก่อน" รมว.คลังกล่าว
สำหรับการเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนรับสิทธิเข้าร่วมในมาตรการชิมช้อปใช้ เฟส 2 นั้น คาดว่าจะเริ่มในช่วงเดือน พ.ย.- ธ.ค.62 เพื่อต้องการให้เกิดกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีเช่นเดิม
"เฟส 2 จะเปิดให้ลงทะเบียนเพิ่ม แต่คงไม่ถึง 10 ล้านคน อย่างมากประมาณ 5 ล้านคน กระเป๋า 1 ได้ แต่ไม่เหมือนเดิม กำลังดูในรายละเอียด คนที่ลงไปแล้วก็มีสิทธิได้ รูปแบบต้องยุติธรรม จะปรับเวลาลงทะเบียนมาเป็นเวลากลางวัน เรื่องงบประมาณที่ใช้กำลังดูในรายละเอียด...เฟส 2 น่าจะอยู่ในช่วง พ.ย.-ธ.ค.62 เอาช่วงเวลาประมาณนี้ก่อน เพราะวัตถุประสงค์อยากช่วยหมุนเวียนเศรษฐกิจปีนี้ เรื่องลดหย่อนภาษีก็กำลังดูอยู่" นายอุตตมกล่าว
ส่วนแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ กระทรวงการคลังขอรอดูผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่ออกไปแล้วก่อน รวมถึงดูทิศทางการส่งออกด้วยว่าเป็นอย่างไร
"เป้า 3% จากสภาพัฒน์ เราพยายามเต็มที่ให้ได้ใกล้เคียงที่สุด ถ้าทำชิมช็อปใช้ เฟส 2 ก็ต้องมาประเมินอีกที ไม่ใช่ชุดมาตรการอย่างเดียวที่ทำให้ได้ 3% ยังมีชุดมาตรการอื่น ๆ รวมอีก" รมว.คลังกล่าว
นายอุตตม ยังกล่าวถึงเงินบาทที่กลับมาแข็งค่าอีกว่า จากที่ได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำให้ทราบว่า ธปท.ติดตามสถานการณ์ค่าเงินอยู่ตลอดเวลา และพยายามจะดูแลให้เงินบาทมีความสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศให้มากที่สุด ซึ่งรายละเอียดของวิธีการนั้นเป็นหน้าที่ของ ธปท.
"ธปท.ได้พูดคุยกับผม ว่ากำลังดูแลอยู่ทุกช่วงเวลา บางช่วงเวลาก็มีมาตรการที่จะพยายามให้บาทสอดคล้องกับสภาพความจริงของเศรษฐกิจไทยให้มากที่สุด ในรายละเอียดเป็นเรื่องของ ธปท.ว่าใช้วิธีไหนในการดูแล" นายอุตตมกล่าว
พร้อมเห็นว่า เงินบาทที่แข็งค่าก็มีผลได้ทั้ง 2 ด้าน ด้านหนึ่งก็เป็นผลดีต่อการลงทุนนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆ จากต่างประเทศ ทำให้ได้ราคาที่ถูกลง แต่อีกด้านอาจจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก ซึ่งในภาพรวมแล้วคงไม่สามารถพูดได้ว่าอะไรจะได้รับผลกระทบมากกว่ากัน
"สิ่งเหล่านี้เป็นวัฎจักร ต้องใช้ประโยชน์ให้ได้ อีกด้านกระทบส่งออก แต่บอกไม่ได้ว่ากระทบอะไรมากกว่ากัน ผู้ส่งออกต้องปรับตัว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันสนับสนุน" รมว.คลังกล่าว