นายวิเลิศ ภูริวัชร คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness) ของประเทศไทยในปี 62 ดีขึ้นกว่าปี 61 มาอยู่ที่ 68.1 คะแนน จากปีก่อนอยู่ที่ 67.5 คะแนน แต่อันดับลดลงมาที่อันดับ 40 ของโลก จากปีก่อนที่อยู่ในอันดับ 38 จากทั้งหมด 141 ประเทศที่ได้รับการจัดอันดับ
ทั้งนี้ ดัชนีดังกล่าวเป็นการวิเคราะห์และการนำเสนอจากพันธมิตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ World Economic Forum (WEF) โดยองค์ประกอบของการให้คะแนนนั้นแบ่งเป็น 4 มิติ ได้แก่ มิติที่หนึ่งเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย มิติที่สองเกี่ยวกับทรัพยากรมนุษย์ มิติที่สามด้านตลาด และมิติที่สี่เกี่ยวกับระบบนิเวศของนวัตกรรม
ในมิติที่หนึ่งเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยนั้น ประเทศไทยได้คะแนน 273 คะแนน จากคะแนนเต็ม 400 คะแนน โดยคะแนนด้านสภาพแวดล้อมหน่วยงานของไทยลดลงจาก 55.1 มาเป็น 54.8 และอันดับลดลงมาเป็นอันดับที่ 67 จากเดิมที่ 60
ด้านโครงสร้างพื้นฐานได้คะแนนลดลงมาเป็น 67.8 จากเดิม 69.7 เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานของไทยแย่ลง เกิดจากความหนาแน่นของรถไฟและความมีประสิทธิภาพของการบริการรถไฟ ทั้งที่ประเทศไทยได้คะแนนดีขึ้นในส่วนของอัตราการเกิดอาชญากรรมและข้อกำหนดเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่ทับซ้อน และด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาคยังมีคะแนนดีขึ้นเล็กน้อยเป็น 90 จากเดิมที่ 89.9 เพราะมีการควบคุมเงินเฟ้อได้ดี
มิติที่สองเกี่ยวกับทรัพยากรมนุษย์ ไทยได้คะแนน 151 คะแนน จากคะแนนเต็ม 200 คะแนน จากตัวชี้วัดด้านสาธารณาสุข ซึ่งได้คะแนนดีขึ้นเป็น 88.9 จากเดิมที่ 87.3 แต่ทักษะด้านทักษะได้คะแนนลดลงมาอยู่ที่ 62.3 จากเดิมที่ 63 เนื่องจากทักษะของผู้สำเร็จการศึกษาแย่ลง และการสอนให้คิดเชิงวิพากษ์ที่ยังทำได้ไม่ดีนัก
มิติที่สามด้านตลาด ไทยได้คะแนน 277 คะแนน จากคะแนนเต็ม 400 คะแนน โดยด้านการแข่งขันภายในประเทศไทยยังคงได้คะแนนใกล้เคียงเดิมที่ 53.5 จาก 53.4 ด้านตลาดแรงงานก็มีคะแนนใกล้เคียงเดิมเช่นเดียวกันเป็น 63.4 จาก 63.3 ส่วนระบบการเงินมีคะแนนสูงขึ้นเป็น 85.1 จาก 84.2 ซึ่งระบบตลาดเงินและตลาดทุนของไทยมีความพร้อมค่อนข้างมาก มีการพัฒนาที่ดีมาตลอดและเป็นอันดับต้นๆของโลก ด้านขนาดตลาดมีคะแนนสูงขึ้นเป็น 75.5 จากเดิมที่ 74.9 โดยยังคงมีขนาดตลาดเป็นอันดับ 18 ของโลก
มิติที่สี่เกี่ยวกับระบบนิเวศของนวัตกรรม ไทยได้คะแนน 116 จาก 200 คะแนน โดยด้านการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจมีคะแนนสูงขึ้นเป็น 23 จากเดิมที่ 21 เนี่องจากความคล่องตัวของธุรกิจในประเทศไทยที่ดีขึ้นและแนวคิดการประกอบการที่มากขึ้น และด้านนวัตกรรมมีคะแนนสูงขึ้นเป็น 43.9 จากเดิมที่ 42.1 โดยความสามารถด้านนวัตกรรมดีขึ้นจากปัจจัยทุกด้าน ทั้งการสร้างความร่วมมือในการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ การวิจัยและพัฒนา รวมไปถึงการนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงพาณิชย์
จากข้อมูลของ WEF พบว่า สิ่งที่ประเทศไทยต้องพัฒนามี 4 ด้าน ได้แก่ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งประเทศไทยยังคงต้องมีการพัฒนาและปรับปรุงระบบสาธารณูปโภคและการคมนาคมให้ดีขึ้น พร้อมกับการปรับปรุงการบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้านการพัฒนาทักษะแรงงานและการศึกษา ซึ่งประเทศไทยยังคงต้องเพิ่มความสามารถของทักษะแรงงาน รวมไปถึงกระบวนการความคิดและการแก้ไขปัญหาของบุคคลากรในประเทศ ซึ่งยังขาดกระบวนการ Critical Thinking ที่ใช้การวิพากษ์วิจารณ์ และเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหา โดยจะต้องมีการปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้หันมาเน้นด้านการคิดวิเคราะห์จากสถานการณ์ภายนอกห้องเรียนมากขึ้น
ด้านการครอบครองตลาดของประเทศไทยยังคงกระจุกตัวอยู่ไนกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เพียงไม่กี่กลุ่ม ทำให้ผู้ควบคุมตลาดมีเพียงกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ และส่งผลให้การกระจายรายได้ไปไม่ถึงกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและเล็ก จึงไม่สามารถที่จะผลักดันให้ธุรกิจขนาดกลางและเล็กเติบโตได้ จึงต้องหาแนวทางที่จะทำให้เกิดการกระจายตัวของธุรกิจในแต่ละขนาดให้มากขึ้น และด้านการเข้าถึงดิจิทัล จะต้องมีการพัฒนาในแง่ของการเป็นผู้พัฒนาดิจิทัลให้มากขึ้น จากที่ปัจจุบันเป็นผู้ใช้ส่วนใหญ่ โดยที่การใช้ดิจิทัลจะต้องสามารถสร้างประโยชน์และก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มได้ พร้อมกับต้องมีการรับรู้การใช้ดิจิทัลอย่างมีวิจารณาญาณประกอบด้วย
"ไทยจะต้องก้าวกระโดดขึ้นไปข้างหน้าให้ได้ เพราะทำเพื่อลูกหลานในอนาคต คำว่าก้าวทันโลกคงไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป เพราะการก้าวทัน คือ เราล้าหลัง แต่เราต้องเปลี่ยนเป็นก้าวล้ำแทน เพราะในโลกของเศรษฐกิจ เป็นเรื่องของการเปรียบเทียบ รายได้ เงิน GDP การอยู่ดีกินดี และการใช้ชีวิต แต่เราไม่สามารถที่จะกระโดดได้เฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนจะต้องร่วมมือกัน" นายวิเลิศ กล่าว
สำหรับประเทศที่ได้รับการจัดอันดับเป็นอันดับหนึ่งปีนี้มีการล้มแชมป์เกิดขึ้น สิงคโปร์ได้ขึ้นเป็นอันดับหนึ่ง โดยล้มแชมป์เก่า คือ สหรัฐอเมริกา ที่ตกลงไปเป็นอันดับสอง โดยอันดับสามถึงสิบมีดังนี้ คือ ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เยอรมนี สวีเดน สหราช อาณาจักร และเดนมาร์ก ตามลำดับ ซึ่งข้อสังเกตสำคัญในปีนี้ คือ เวียดนาม เป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดดสูงที่สุดในโลก โดยมีค่าดัชนีเพิ่มขึ้นถึง 3.5 คะแนนทำให้อันดับขยับเพิ่มขึ้นได้ถึง 10 อันดับ จากอันดับที่ 77 เมื่อปีที่ผ่านมา ขึ้นเป็นอันดับที่ 67 ของโลกในปีนี้
เมื่อเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศ ASEAN+3 พบว่าประเทศไทยอยู่อันดับที่ 6 จากก 12 ประเทศ โดยเป็นรอง สิงคโปร์ (อันดับ 1) ญี่ปุ่น (อันดับ 6) เกาหลีใต้ (อันดับ 13) มาเลเซีย (อันดับ 27) และจีน (อันดับ 28) แ ล มีอันดับสูงกว่าประเทศอื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย (อันดับ 50) บรูไน (อันดับ 56) ฟิลิปปินส์ (อันดับ 64) เวียดนาม (อันดับ 67) กัมพูชา (อันดับ 106) ลาว (อันดับ 113) โดยเมียนมาไม่ได้รับการจัดอันดับ