นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. (DGA) เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายและทิศทางการดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เปิดเผยว่า ในการประชุมวันนี้ได้มอบหมายให้ สพร.ไปกำหนดแนวทางการดำเนินงาน และแผนการดำเนินงานในอนาคต รวมถึงวางกรอบเวลาภายใน 3 ปี (63-65) จะดำเนินการอะไรก่อนและหลัง เพื่อช่วยส่งเสริมและผลักดันให้ทุกหน่วยงานของรัฐมุ่งสู่การเป็นหน่วยงานดิจิทัล โดยแผนงานดังกล่าวทั้งหมดจะต้องสรุปในต้นเดือนพ.ย.นี้
ทั้งนี้ นายสมคิด ได้แนะแนวทางการดำเนินงานให้กับ สพร. โดยเน้นการช่วยเหลือแต่ละองค์กรของรัฐให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล ซึ่งต้องยอมรับว่าในแต่ละกระทรวง หรือหน่วยงานของรัฐนั้นมีความสามารถในการไปสู่ดิจิทัลไม่เท่ากัน โดยบางหน่วยงานก็มีความเข้มแข็ง แต่บางหน่วยงานอาจยังขาดแคลนด้านบุคลากร ซึ่ง สพร.จะต้องเข้าไปช่วย setup ระบบ เพื่อไปสู่ดิจิทัล รวมทั้งเรื่อง Big Data
นอกจากนี้ การเข้าไปพัฒนางานให้กับหน่วยงานรัฐต่างๆ ได้แนะนำให้มองไปถึงเรื่องของการสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากด้วย โดยเริ่มต้นจากธนาคารของรัฐ ทั้งธนาคารกรุงไทย, ธนาคารออมสิน, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ซึ่งถือเป็นกลุ่มหน่วยงานที่มีข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจฐานรากค่อนข้างมาก
นายสมคิด ยะตัวอย่างว่า ในช่วงที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้จับมือกับธนาคารกรุงไทยเข้าไปช่วยส่งเสริมและผลักดันให้เกิดพร้อมเพย์, ชิมช้อปใช้, บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น ดังนั้นจึงมองว่าเมื่อข้อมูลเหล่านี้เชื่อมโยงกัน ทาง สพร. ก็สามารถเข้าไปติดตั้งระบบต่างๆ ให้เป็นระบบเดียวกันได้ ขณะเดียวกัน ก็สามารถที่จะออกแบบสร้างแอพพลิเคชั่นสอนให้สังคมฐานรากทำการเกษตร หรือให้ความรู้กับเกษตรกร รวมถึงงานที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายต่างประเทศก็สามารถทำให้เกิดการพัฒนางานได้เพิ่มขึ้นอีก โดยนำหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ กรมศุลกากรมาร่วมมือกัน
"เมื่อเราสามารถระบุได้แล้วว่าเป็นหน่วยงานอะไร ต่อไปก็คือการไปเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงาน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญ เนื่องจากขณะนี้หน่วยงานรัฐต่างคนต่างพัฒนา ถ้าหาก สพร. เป็นตัวกลางเข้าไปช่วย ก็จะทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐกับภาครัฐได้"
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการให้บริการกับสาธารณะ เช่น Citizen platform ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) มีอยู่แล้วในการให้บริการประชาชน อย่างการขอใบอนุญาตต่าง ๆ ทางสำนักงานก.พ.ร. ได้ออกแบบขั้นตอนต่างๆ ให้ง่ายขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานก.พ.ร. ก็ได้ออกใบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์ (e-License) ไปแล้ว 40 ใบอนุญาต จำนวน 10 ธุรกิจ คาดว่าในปี 63 จะออกใบอนุญาตดังกล่าวเพิ่มเติมอีก 70 ใบอนุญาต จำนวน 25 ธุรกิจ
ด้านนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ที่ผ่านมาทาง สพร.และสำนักงานก.พ.ร. ได้มีการทำงานร่วมกันในการเข้าไปปรับโครงสร้าง และฐานข้อมูลต่างๆของหน่วยงานหลายหน่วยงานของรัฐที่ยังไม่มีความพร้อมในการนำเอาข้อมูลมาสู่การให้ประโชยน์กับประชาชนได้เต็มที่ ซึ่งหลังจากนี้ก็จะมีการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องในการกำหนดแผนงานต่างๆ เพื่อนำไปสู่การที่ภาคเอกชน ภาคประชาชน สามารถมีส่วนร่วมในการเข้าถึงข้อมูลสำคัญของรัฐในชั้นความลับ ซึ่งจะเป็นแนวทางในการพัฒนาในอนาคตต่อไป