ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ย.62 อยู่ที่ระดับ 72.2 จาก 73.6 ในเดือนส.ค.62 โดยเป็นการปรับตัวลดลงในรอบ 39 เดือน และต่ำสุดในรอบ 3 ปี
ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมเดือน ก.ย.62 อยู่ที่ระดับ 59.3 จาก 60.9 ในเดือนส.ค.62 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำ อยู่ที่ระดับ 68.5 จาก 69.7 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 88.9 จาก 90.4
โดยปัจจัยลบที่สำคัญในเดือนก.ย. ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ปรับประมาณการขยายตัวทางศรษฐกิจไทยปีนี้ลงเหลือ 2.9%จากเดิมคาด 3.3%, การส่งออกของไทย เดือนส.ค. หดตัว 4.0%, ความกังวลกี่ยวกับปัญหาสงครามการค้า โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน และปัญหา Brexit ซึ่งอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต, ราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ, ความกังวลสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจจะส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตร การท่องเที่ยว, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น และผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้ายังทรงตัวอยู่ในระดับสูง
ส่วนปัจจัยบวกที่มีผลต่อความเชื่อมั่น ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐบาลเริ่มเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจไทยมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะ "ชิมช้อปใช้"ได้รับการตอบสนองอย่างมากจากภาคประชาชนทำให้เกิดการหมุนเวียนของการใช้จ่ายของภาครัฐบาลและภาคประชาชนเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ, กนง. มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50%, เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างไรก็ตามการที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่องมากกว่าการแข็งค่าของเงินสกุลของประเทศคู่แข่งในปัจจุบันส่งผลกระทบในเชิงลบกับผู้ส่งออก