KBANK คาดบาทแข็งค่าต่อเนื่องแตะ 29.25 บาท/ดอลลาร์ช่วงสิ้นปี 63 ตามแนวโน้มเกินดุลบัญชีเดินสะพัดแม้ส่งออกหด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 10, 2019 13:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ประเมินว่า ค่าเงินบาทสิ้นปี 63 จะแข็งค่าต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 29.25 บาท/ดอลลาร์ จากความเสี่ยงของโลกที่ยังสูง โดยเฉพาะจากประเด็นสงครามการค้า ทำให้นักลงทุนยังคงต้องการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย อาทิ ค่าเงินบาท เนื่องจากประเทศไทยมีเสถียรภาพต่างประเทศแข็งแกร่ง โดยเฉพาะดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล และแนวโน้มที่จะได้รับการปรับขึ้นอันดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะยังเป็นปัจจัยกดดันให้ค่าเงินบาทยังแข็งค่าต่อเนื่อง

ทั้งนี้ แนวโน้มการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด จากทั้งดุลการค้าและดุลบริการที่เกินดุล จะยังเป็นปัจจัยที่สะท้อนเสถียรภาพของไทยที่แข็งแกร่ง โดยประเมินว่าดุลการค้าไทยจะยังเป็นการเกินดุลแม้การส่งออกปี 63 ยังหดตัวลงจากผลกระทบของมาตรการภาษีระหว่างสหรัฐฯ-จีน และการส่งออกที่หดตัวส่งผลให้การนำเข้าลดลงเช่นกัน สะท้อนจากความสัมพันธ์ระหว่างการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบที่ไม่รวมสินค้าการเกษตรและน้ำมัน รวมทั้งแนวโน้มอุปสงค์ต่างประเทศและในประเทศที่ยังอ่อนแอจะกดดันให้อัตราการใช้กำลังการผลิตของไทยลดลง ทำให้ผู้ประกอบการมีแนวโน้มชะลอการนำเข้าสินค้าทุนต่อเนื่อง โดยการสะสมสินค้าคงคลังที่ผ่านมายังอยู่ในระดับสูง

นอกจากนี้ ผลของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่จะยังต่ำ ทำให้มูลค่าการนำเข้าน้ำมันมีแนวโน้มลดลง โดยประเมินว่าราคาน้ำมันตลาดดูไบที่ลดลง 10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลจะส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าน้ำมันลดลงราว 300 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 12.2% ด้านดุลบริการ ประเมินว่าจะยังเกินดุลจากรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติสุทธิที่สนับสนุนการเกินดุลมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีแนวโน้มชะลอลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ โดยการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดนั้นจะยังสนับสนุนให้เงินบาทแข็งค่า

นอกจากนี้ ผลพวงจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ทำให้ผู้ส่งออกหันมาสะสมรายได้จากการส่งออกในบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit: FCD) จะเป็นปัจจัยกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ยาก เนื่องจากมูลค่าเงินฝากในบัญชี FCD เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 52 ที่อัตราเฉลี่ย 13% ต่อปี โดยล่าสุดอยู่ที่ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้น หากค่าเงินบาทเริ่มมีสัญญาณอ่อนค่าลงบ้าง การแปลงสกุลเงินตราต่างประเทศเป็ นเงินบาทจากบัญชีดังกล่าวอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าช้าลงในอนาคตเช่นกัน

KBANK คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 1 ครั้งในเดือนธันวาคม และคงดอกเบี้ ยนโยบายตลอดทั้งปี 63 ที่ 1.25% แนวโน้มการลดดอกเบี้ยที่ช้ากว่าธนาคารกลางอื่นๆ อาจไม่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงมากนัก

สำหรับสาเหตุที่คาดว่า ธปท.จะลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง คือ เศรษฐกิจไทยชะลอลงมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกที่หดตัวลงมากจากผลกระทบของสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนและเริ่มส่งผ่านมายังการลงทุนในประเทศทั้งการซื้อเครื่องจักรและการนำเข้าสินค้าทุนที่ชะลอตัวลง อีกทั้งการบริโภคมีแนวโน้มอ่อนแอลงจากการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ลดลงอย่างรวดเร็ว, อัตราเงินเฟ้ออาจไม่สามารถ กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-4% เนื่องจากราคาน้ำมันและรายได้เกษตรกรอาจกดดันราคาสินค้าโดยรวมของไทยต่อไปถึงสิ้นปี 63

ขณะที่มาตรการการคลังในช่วงที่เหลือของปีนี้จนถึงเดือน ม.ค.63 มีงบจำกัด เนื่องจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 63 ที่ล่าช้ากว่าปกติ ทำให้วงเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจำกัด อาทิ มาตรการชิมช็อปใช้ (3 หมื่นล้านบาท) รวมถึงเสถียรภาพของรัฐบาลที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใกล้เคียงกับฝ่ายค้าน ทำให้การผ่านกฎหมายต่างๆยากลำบาก

และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้นและยาวแทบไม่แตกต่างกัน (Flattened yield curve) โดยส่วนต่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 และ 10 ปีต่างกันเพียง 8 bps จากเฉลี่ยปี 1999-ปัจจุบันที่ 137 bps สะท้อนความต้องการถือครองตราสารหนี้ ระยะยาวที่มีความปลอดภัยสูง

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นจนถึงอายุ 15 ปีล้วนต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายมากว่า 1 เดือน และอัตราดอกเบี้ยในระยะสั้นในอีก 3 เดือนข้างหน้าที่ต่ำลงมาอยู่ที่ 1.33% ยังสะท้อนว่าตลาดเริ่มเชื่อว่า ธปท.มีโอกาสลดดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่เหลือของปีนี้

อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี หน้า ธปท. จะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำที่ 1.25% ตลอดทั้งปีแม้คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจลดดอกเบี้ยลงต่ออีก 3 ครั้ง (ต.ค. 62 มี.ค. 63 และมิ.ย.63) เพื่อเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง รวมทั้งทำให้ธนาคารกลางในเอเชียอื่นๆ ผ่อนคลายนโยบายการเงินลงตาม โดยเฉพาะประเทศที่มีหนี้ต่างประเทศสูง อาทิ อินเดีย ฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย

ขณะที่ไทยมีข้อจำกัดด้านขีดความสามารถในการลดดอกเบี้ย (Policy space) และข้อจำกัดด้านเสถียรภาพระบบการเงินในประเทศ เนื่องจากภาวะดอกเบี้ยที่ต่ำทำให้แรงจูงใจการฝากเงินต่ำลง และทำให้พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นเข้มข้นขึ้น (Search-for-yield behavior) ประกอบกับภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 78.7% ต่อจีดีพีทำให้ศักยภาพการใช้จ่ายอยู่ในระดับต่ำแม้ว่าจะมีการลดดอกเบี้ยลง ดังนั้น แนวโน้มการลดดอกเบี้ยของ ธปท. ที่ช้ากว่าประเทศอื่นๆ อาจไม่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง

บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่สำคัญของโลก 2 แห่งคือ บริษัท มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส และ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ปรับมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยจาก "คงที่" เป็น "บวก" ในเดือน ก.ค.62 เนื่องจากการเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น ทำให้ประเมินว่าเสถียรภาพต่างประเทศของไทยที่มีแนวโน้มแข็งแกร่งต่อเนื่อง อาทิ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและหนี้ต่างประเทศไทยระดับต่ำ

รวมทั้งหากภาครัฐสามารถผลักดันนโยบายสนับสนุนเศรษฐกิจเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน อาทิ นโยบายที่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุและการขาดแคลนแรงงานมีฝีมือ อาจเป็นปัจจัยให้ไทยได้รับการปรับขึ้นอันดับความน่าเชื่อถือในช่วงปลายปี 63 และดึงดูดเงินุทนไหลเข้าจากต่างชาติและกดดันเงินบาทให้แข็งค่าต่อไป

อย่างไรก็ตาม อาจมีปัจจัยที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าได้ระหว่างปี เนื่องจาก JP Morgan ประกาศเพิ่มพันธบัตรรัฐบาลจีนเข้าสู่การคำนวณดัชนีอ้างอิงตราสารหนี้ ของตลาดเกิดใหม่ 10% และลดสัดส่วนของพันธบัตรอื่นๆ ลง โดยน้ำหนักของไทยจะลดลงประมาณ 1% ทำให้คาดว่าจะมีเงินทุนจากกองทุนที่อ้างอิงดัชนีดังกล่าวไหลออกจากจากตลาดตราสารหนี้ ไทยไปยังจีนเฉลี่ย 6.4 พันล้านบาทต่อเดือนระหว่างเดือนก.พ. – พ.ย. 63 และเป็นปัจจัยให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าได้

นอกจากนี้ หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้าคาดว่าจะทำให้มีเงินทุนไหลออกจากไทยและตลาดเกิดใหม่ทั้งหมดเพื่อกลับเข้าสู่สหรัฐฯ และเป็นผลให้เงินบาทอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ดัชนี K-US recession probability1 ซึ่งพิจารณาทั้งโอกาสการเกิดภาวะถดถอยจากการเงินและอุปสงค์ในสหรัฐฯ ชี้ว่า ณ สิ้นปี 63 สหรัฐฯ มีโอกาสเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเพียง 32.1% จากช่วงวิกฤตที่โอกาสสูงกว่า 40% ทำให้มองว่าสหรัฐฯ จะยังไม่เกิดภาวะถดถอย แต่โอกาสเกิดวิกฤตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากปัจจุบันที่ 23.6% จึงเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามใกล้ชิดต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ