(เพิ่มเติม1) เวิลด์แบงก์ ปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยปี 62 เหลือโต 2.7% จากเดิมคาด 3.5%, ปี 63 คาดโต 2.9% จาก 3.6%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 10, 2019 13:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ปีนี้มาที่ 2.7% จากเดิมที่คาดไว้ 3.5% เนื่องมาจากหลายปัจจัยที่สำคัญ เช่น การส่งออกที่ลดลงมากกว่าคาดการณ์ในช่วงครึ่งแรกของปี 62, ประเทศไทยประสบปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบศตวรรษ, อัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐที่ต่ำและมีผลเหนี่ยวรั้งตัวเลขการลงทุนภาครัฐ

พร้อมทั้งปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 63 มาที่เติบโต 2.9% จากเดิม 3.6% ก่อนจะขยายตัวเป็น 3.0% ในปี 64 ขณะที่ปรับลดคาดการณ์การส่งออกในปีนี้มาเป็นหดตัว -5.3% จากครั้งก่อนคาดว่าจะขยายตัว 2.2% ส่วนในปี 63 คาดว่าการส่งออกจะฟื้นกลับมาขยายตัวได้ 0.2%

นายเกียรติพงษ์ อริยปรีชา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส เวิลด์แบงก์ประจำประเทศไทย กล่าวว่า กรณีที่เวิลด์แบงก์ปรับลดคาดการณ์ GDP ของไทยในปีนี้มาอยู่ที่ระดับ 2.7% นั้น น่าจะใกล้เคียงกับการคาดการณ์ของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจอื่นๆ และมีอัตราต่ำสุดในภูมิภาค เนื่องจากประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วกว่าประเทศอื่น แต่ยังโชคดีที่ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมารัฐบาลมีการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อรองรับเรื่องดังกล่าวไปบ้างแล้ว

เวิลด์แบงก์ ระบุว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลอนุมัติออกมาในเดือน ส.ค.62 มุ่งเป้าไปที่เกษตรกร ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง และครัวเรือนที่มีรายได้น้อย โดยผ่านการโอนเงินให้โดยตรง การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ การคืนภาษีจากกิจกรรมการท่องเที่ยว การขยายยกเว้นค่าวีซ่าสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่กำหนดนั้น น่าจะไม่ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้

ส่วนในระยะปานกลาง ผลกระทบจากมาตรการเหล่านี้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับกำลังของตัวทวีทางการคลัง

"เป็นมาตรการที่มาทันเวลา และมีโอกาสทำต่อเนื่องได้อีก เพราะสัดส่วนหนี้สาธารณะยังต่ำ...รัฐบาลยังมีโอกาสที่จะใช้มาตรการทางการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องได้อีก โดยกำหนดเป้าหมายให้เข้าถึงกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือที่แท้จริง รวมถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงการเดินทางไปยังภูมิภาคต่างๆ" นายเกียรติพงษ์ กล่าว

ขณะที่สถานการณ์ความเสี่ยงมีแนวโน้มที่จะเป็นไปในทิศทางที่ไม่ค่อยดี ความไม่แน่นอนทางการเมืองยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดอันจะก่อให้เกิดความเคลือบแคลงใจอยู่ต่อไปถึงความเหนียวแน่นของรัฐบาลใหม่ที่เป็นรัฐบาผผสมจาก 19 พรรคการเมือง, ความล่าช้าของการดำเนินงานตามแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐอาจส่งผลในทางลบต่อมุมมองของนักลงทุนและความมั่นใจของผู้บริโภค ซึ่งสุดท้ายแล้วอาจทำให้อุปสงค์ภายในประเทศอ่อนแอลง แม้ว่าโครงการที่เกี่ยวข้องกับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะมีความคืบหน้า แต่ยังมีความเสี่ยงว่าอาจเกิดความล่าช้าในการดำเนินงาน

นอกจากนั้น ความตึงเครียดทางการค้าที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นระหว่างสหรัฐฯและจีนอาจส่งผลให้ความต้องการสินค้าส่งออกของไทยอ่อนแอลงไปอีก และบั่นทอนการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก และค่าเงินบาทแข็งค่าที่สุดในภูมิภาคในช่วงกลางปี 62 เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติเข้าหาที่หลบภัยในตลาดพันธบัตรของไทย หากค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นต่อไปอีก อาจจะเป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกของไทยทั้งในภาคอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว

นายเกียรติพงษ์ กล่าวว่า สำหรับปัญหาที่เงินบาทแข็งค่ามากสุดในภูมิภาคนั้น มีปัจจัยหนุนจากนักลงทุนเห็นว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัยมากสุด เพราะมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแรง ส่วนภัยแล้งที่มีความรุนแรงในรอบ 10 ปีซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรนั้น รัฐบาลยังสามารถช่วยเหลือเกษตรกรในการชดเชยรายได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานและภาคใต้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ