นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.อยู่ระหว่างเตรียมออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อูแลค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากในขณะนี้ ซึ่งมีปัจจัยหลักมาจากต่างประเทศ โดยคาดว่าจะประกาศใช้ในช่วง 1-2 เดือนนี้
"มีหลายปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าเงิน ส่วนสำคัญมาจากปัจจัยภายนอกประเทศ นี่เป็นสิ่งที่ ธปท. และกนง.ไม่สบายใจ เพราะเราตระหนักดีว่ามีผลต่อผู้ส่งออก และผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยว เราได้ติดตามอย่างต่อเนื่อง และดูมาตรการต่างๆ ที่อาจจะต้องทำเพิ่มเติม โดยจะมีมาตรการที่ต้องทำเพิ่มเติมใน 2-3 กลุ่ม" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว
มาตรการกลุ่มแรก เพื่อต้องการให้เกิดความสมดุลระหว่างเงินทุนที่ไหลเข้าและไหลออก เนื่องจากในสภาวะที่ไทยมีความเข้มแข็งทางด้านการเงินมากขึ้น ก็จะเปิดเสรีให้คนไทยไปลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น ทั้งนักลงทุนรายบุคคลและนักลงทุนสถาบัน รวมถึงจะผ่อนผันให้ผู้ส่งออกสามารถบริหารจัดการเงินตราต่างประเทศได้มากขึ้น แทนที่จะต้องนำเงินตราเข้ามาในประเทศไทยทันที ซึ่งจะช่วยลดแรงกดดันค่าเงินบาทได้ในระดับหนึ่ง
นอกจากนี้ จะส่งเสริมให้มีผู้ประกอบธุรกิจให้บริการด้านการโอนเงินและแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศให้เข้ามาทำธุรกิจได้เพิ่มมากขึ้น ช่วยให้เกิดการแข่งขันและลดต้นทุนในการแลกเปลี่ยนเงินตรา และการโอนเงินระหว่างประเทศ รวมถึงลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการด้วย
"นี่จะเป็นมาตรการกลุ่มที่ 1 ซึ่งคาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้ในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า เพราะหลายอย่างเป็นมาตรการที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจของธปท.เพียงฝ่ายเดียว ต้องประสานกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง" นายวิรไท กล่าว
ส่วนมาตรการกลุ่มที่ 2 จะเกี่ยวข้องกับการค้าทองคำ เนื่องจากจะเห็นว่าบางช่วงมีการนำเข้าและส่งออก (Flow) ทองคำค่อนข้างมาก ซึ่งสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินบาท และซ้ำเติมค่าเงินบาทให้แข็งค่าขึ้นเร็ว ซึ่ง ธปท.จะพิจารณาว่าจะนำมาตรการใดออกมาใช้เพื่อลดแรงกระแทกของ flow ทองคำที่มีต่อค่าเงินบาท แต่จะไม่ใช่มาตรการที่ไปสกัดกั้นการซื้อขายทองคำ
"เราไม่ได้บอกว่าจะคุมเรื่องการค้าทองคำ แต่เราจะดูว่าช่องทางที่จะมีผลมาถึงเรื่องค่าเงินบาท ทำอย่างไรให้ flow ของทองคำไม่มีผลกระแทกแรงๆ กับค่าเงินบาท ไม่ได้บอกว่าจะหยุดหรือกำกับดูแลการซื้อขายทองคำ ไม่ใช่ แต่จะดูว่าจะมีมาตรการอย่างไรที่จะลดแรงกระแทกของ flow ทองคำต่อค่าเงินบาท ขอพูดให้ชัดว่าเราไม่ได้จะออกกฎเกณฑ์หรือควบคุมไม่ให้ค้าทองคำ ไม่ใช่แบบนั้น" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว
ส่วนมาตรการกลุ่มที่ 3 เป็นการดูแลในเชิงโครงสร้างที่มีผลต่อการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูง ซึ่งแนวโน้มในปีหน้าก็คาดว่าประเทศไทยจะยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลงทุนและการนำเข้าสินค้าทุนอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งการที่รัฐบาลมีหลายโครงการลงทุนขนาดใหญ่ หากเดินหน้าได้เร็วก็จะช่วยให้มีการนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ สิ่งที่ภาครัฐและเอกชนสามารถผลักดันร่วมกันทำได้คือ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจดิจิทัล โครงการสมาร์ทซิตี้ การเตรียมระบบนิเวศเพื่อรองรับ IOT รวมทั้งระบบ 5G เป็นต้น
"โครงการเหล่านี้ มีความจำเป็นต้องนำเข้าอุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงควรใช้โอกาสที่ค่าเงินบาทแข็งนี้ ส่งเสริมให้มีการนำเข้าเพื่อช่วยให้เกิดการวางรากฐานของเศรษฐกิจดิจิทัลใหม่ นี่เป็นการทำในเชิงโครงสร้างที่จะช่วยลดการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด และใช้เป็นโอกาสเตรียมพร้อมระบบเศรษฐกิจไทยสำหรับอนาคต" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว
ผู้ว่า ธปท.กล่าวว่า หากพิจารณาถึงปัจจัยที่จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา จะพบว่ามีหลายปัจจัย เช่น ปัจจัยแรก การเปลี่ยนแปลงในตลาดเงินตลาดทุนโลกตามสภาวะเศรษฐกิจโลกและการเมืองโลก โดยเฉพาะปัจจัยในต่างประเทศทั้งการกีดกันทางการค้า, ปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลาง รวมถึงกรณีของ Brexit ซึ่งมีผลต่อค่าเงินในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน ปัจจัยที่สอง มาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัดแล้ว 25,000 ล้านดอลลาร์ และคาดว่าจนถึงสิ้นปีจะเกินดุลฯ ถึง 34,000 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 6.3% ต่อจีดีพี ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกทองคำค่อนข้างสูง โดยเฉพาะกรณีที่เกิดความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโลก จึงทำให้เกิดการลงทุนในทองคำมากขึ้น ส่งผลให้ทองคำในตลาดโลกมีราคาสูงขึ้นมาก จึงเกิดการส่งออกทองคำและมีเงินตราต่างประเทศไหลเข้ามา ซึ่งในช่วงที่มีความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจโลก จึงมักจะเห็นการไหลเข้า-ออกของทองคำเข้ามากดดันอัตราแลกเปลี่ยนด้วย ปัจจัยที่สาม มาจากการลงทุน แยกเป็น 1.การลงทุนในตราสาร ทั้งในพันธบัตร และตลาดหุ้น และ 2.การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งในช่วงไตรมาส 2 พบว่ามีการเข้ามาลงทุนในกลุ่มแรกเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งมาจากความชัดเจนทางการเมือง และความเข้มแข็งของเศรษฐกิจที่อยู่ในเกณฑ์ดี จึงทำให้เมื่อเดือน ก.ค.62 ธปท.ได้ออกมาตรการเพื่อยับยั้งไม่ให้กระแสการเข้ามาพักเงินในไทยได้ง่ายหรือสะดวกเหมือนเดิม ส่งผลให้ตั้งแต่เดือนส.ค.จนถึงปัจจุบัน เริ่มมีเงินไหลออกไป 4,500 ล้านดอลลาร์ ทำให้แรงกดดันในส่วนนี้ที่มีผลต่อค่าเงินเริ่มเบาบางลง อย่างไรก็ดี ธปท.เห็นการลงทุนทางตรงที่เข้ามามากขึ้น ซึ่งหลายรายการมีทั้งการเข้ามาซื้อหุ้นในบริษัทขนาดใหญ่ การเข้ามาขยายฐานการผลิตเพิ่มขึ้นในไทย ขณะเดียวกันในช่วง 2-3 วันนี้ได้เห็นนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาซื้อหุ้นในบริษัทขนาดใหญ่ที่เพิ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงส่งผลให้เกิดแรงกดดันต่อค่าเงินบาทอยู่บ้าง นอกจากนี้ ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีบริษัทขนาดใหญ่มีการขายหุ้นให้กับนักลงทุนจากต่างประเทศ จึงทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามาในประเทศค่อนข้างมาก ซึ่ง ธปท.ได้พยายามติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด และป้องกันไม่ให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็ว