(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าฯ เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ก.ย. อยู่ที่ 72.2 ลดลงต่อเนื่อง-ต่ำสุดในรอบ 3 ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 10, 2019 14:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.ย.62 อยู่ที่ระดับ 72.2 จาก 73.6 ในเดือนส.ค.62 โดยเป็นการปรับตัวลดลงในรอบ 39 เดือน และต่ำสุดในรอบ 3 ปี

ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมเดือน ก.ย.62 อยู่ที่ระดับ 59.3 จาก 60.9 ในเดือนส.ค.62 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำ อยู่ที่ระดับ 68.5 จาก 69.7 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต อยู่ที่ระดับ 88.9 จาก 90.4

โดยปัจจัยลบที่สำคัญในเดือนก.ย. ได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ปรับประมาณการขยายตัวทางศรษฐกิจไทยปีนี้ลงเหลือ 2.9%จากเดิมคาด 3.3%, การส่งออกของไทย เดือนส.ค. หดตัว 4.0%, ความกังวลกี่ยวกับปัญหาสงครามการค้า โดยเฉพาะสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน และปัญหา Brexit ซึ่งอาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยในอนาคต, ราคาพืชผลทางการเกษตรยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ, ความกังวลสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจจะส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตร การท่องเที่ยว, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น และผู้บริโภคยังมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้ายังทรงตัวอยู่ในระดับสูง

ส่วนปัจจัยบวกที่มีผลต่อความเชื่อมั่น ได้แก่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐบาลเริ่มเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจไทยมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะ "ชิมช้อปใช้"ได้รับการตอบสนองอย่างมากจากภาคประชาชนทำให้เกิดการหมุนเวียนของการใช้จ่ายของภาครัฐบาลและภาคประชาชนเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ, กนง. มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50%, เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างไรก็ตามการที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่องมากกว่าการแข็งค่าของเงินสกุลของประเทศคู่แข่งในปัจจุบันส่งผลกระทบในเชิงลบกับผู้ส่งออก

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สาเหตุที่ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลง ประกอบด้วย 1.ราคาพืชผลทางการเกษตรยังอยู่ในระดับทรงตัวต่ำ โดยเฉพาะยางพาราในช่วงปัจจุบันปรับตัวต่ำกว่า 40 บาท/กก. รวมถึงราคาปาล์ม มันสำปะหลังและข้าวยังทรงตัว ซึ่งมาตรการของรัฐบาลเพียงแค่ประคองสถานการณ์เท่านั้น จึงทำให้ต่างจังหวัดไม่มีกำลังซื้อ

ปัญหาสงครามการค้ายังส่งผลต่อการส่งออกของไทย ซึ่งมหาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า ส่งออกปี 62 จะอยู่ในระดับ -1 ถึง -2 % ส่งผลต่อ SME และอุตสาหกรรมที่อยู่ในซัพพลายเชน และค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่าส่งผลให้สินค้าที่ส่งออก รวมถึงไปภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะในต่างจังหวัดได้รับผลกระทบหนัก ทำให้นักท่องเที่ยวลดลง ซึ่งได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่า

นอกจากนี้ ปัจจัยทางการเมืองซึ่งสะท้อนจากดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกัยสถานการณ์ทางการเมือง ปรับตัวต่ำสุดในรอบ 65 เดือน หรือ 5 ปี นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 57 ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามา สะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนยังมีความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองที่ยังไม่มีเสถียรภาพ โดยเฉพาะปัญหารัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ

รวมถึงการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 ในสัปดาห์หน้าที่เกิดความกังวลว่า งบฯจะไม่ผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมสภาฯ รวมถึงการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่เริ่มมีสัญญาณล่าช้าออกไป มีผลต่อการตัดสินใจต่อการลงทุนของภาคเอกชน และทำให้ประชาชนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย

แม้ว่ารัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งการเติมเงินลงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และมาตรการชิม ช็อป ใช้ รวมถึงการปล่อยสินเชื่อผ่านธนาคารของภาครัฐ แต่ไม่สามารถกระตุ้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้

"การโอนเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่สามารถกระตุกระบบเศรษฐกิจให้สูงขึ้นได้ วงเงินตรงนั้นประมาณ 2-3 หมื่นล้าน มาตรการชิม ช้อบ ใช้ เป็นมาตรการที่ตอบสนองเยอะ แต่เม็ดเงินเพิ่งเริ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจช่วงต้นเดือนตุลาคม มาตรการที่มีประกันรายได้ปาล์มน้ำมันจะเริ่มโอนเงินเดือนตุลาคม เพราะฉะนั้นมาตรการของรัฐเพิ่งเริ่มต้น ตรงส่วนนี้ไม่สามารถกระตุ้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับสูงขึ้น

สิ่งที่จะเห็นความเชื่อมั่นในขณะนี้เป็นผลจากความรู้สึกที่รู้สึกว่า เศรษฐกิจมีความย่ำแย่ และมีความห่วงว่า มีความซบเซาของตลาดใกล้เคียงกับต้มยำกุ้ง...ความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจปัจจุบัน ตลอดจนความเชื่อมั่นของสถานการณ์ปัจจุบันมีค่าต่ำสุด 126 เดือนหรือ 18 ปีตั้งแต่ปี 44 ซึ่งเป็นสิ่งที่รู้สึกว่าบรรยากาศค่อนข้างซึม จึงทำให้ดัชนีที่เกี่ยวกับต้นทุนค่าครองชีพอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 65 เดือน คือ ประชาชนรู้สึกรายได้ค่อนข้างน้อย ระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย และค่อนข้างกังวลสูง...โดยสรุปความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเป็นแรงกดดันที่ทำให้คนขาดความมั่นใจของเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ซึมตัวต่อเนื่อง และความกังวลที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวด้วยความยากลำบากและความระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยจะลากไปจนถึงปีใหม่" นายธนวรรธน์ กล่าว

ทั้งนี้ ภาคเอกชนเริ่มส่งสัญญาณปีหน้าอาจจะมีการชะลอการจ้างแรงงาน ส่งผลต่อนักศึกษาที่จบใหม่เข้าสู่ตลาดแรงงานช้าลงด้วย

นายธนวรรธน์ ประเมินว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP)ในปี 62 มีโอกาสอยู่ในระดับ 2.6-2.8% เพราะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ส่งผลทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสูงขึ้น และเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจยังล่าช้า ซึ่งสิ่งที่อยากจะเห็นคือ การกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีเม็ดเงินลงไปต่างจังหวัดและเข้าสู่ครัวเรือนที่อยู่ระดับรายได้ปานกลางและระดับล่างมากกว่าเดิม และเชื่อว่า มาตรการประกันรายได้เกษตรกรยางพาราและปาล์มน่าจะส่งผลให้กำลังซื้อในไตรมาสที่ 4 มากขึ้นและหากมีมาตรการทำให้เกิดการจ้างงาน เร่งการจัดซื้อจัดจ้างให้เร็วขึ้น อาจส่งผลให้ GDP ไตรมาส 4 ขยายตัวเกิน 3% ได้

พร้อมประเมินว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนต.ค.จะยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งต้องติดตามปัญหาสงครามการค้า Brexit และร่างงบประมาณที่สภาฯจะพิจารณา และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะส่งต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคได้มากน้อยเพียงใด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ