ThaiBMA คาดปีนี้ยอดออกหุ้นกู้แตะ 1 ล้านลบ.สูงกว่าปีก่อน, Bond Yield ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 11, 2019 13:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธาดา พฤฒิธาดา กรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย(ThaiBMA) คาดยอดการออกตราสารหนี้ระยะยาวปีนี้แตะ 1 ล้านล้านบาท สูงกว่าปีก่อนที่อยู่ 830,000 ล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางขาลง โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมามียอดออกแล้ว 833,427 ล้านบาท ซึ่งการออกเพิ่มขึ้นมาจากกลุ่มธนาคาร และ กลุ่มอสังหา โดยกลุ่มธนาคารออกตราสารราว 245,749 ล้านบาท และ กลุ่มอสังหาราว 587,677 ล้านบาท ถือว่าเป็นกลุ่มเดียวที่มียอดการออกเพิ่มขึ้นทุกปีตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

สำหรับตราสารหนี้ระยะยาวที่จะครบกำหนดในไตรมาส 4/62 มีมูลค่า 123,251 ล้านบาท โดยตราสารหนี้ที่จะครบกำหนดใน 3 เดือนนี้ 66% มีเรตติ้ง A- ขึ้นไป

ส่วนเดือน ต.ค.62 นี้ จะมีบมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิคล้ายทุน วงเงินรวมประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท และให้อัตราดอกเบี้ยประมาณ 5% ซึ่งถือว่าลดลง จากครั้งก่อนที่ให้ประมาณ 7%

นายธาดา กล่าวต่อว่า กระแสเงินทุนต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ไทยเริ่มพลิกกลับมาเป็นการขายสุทธิในไตรมาส 3 นี้ หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ใช้มาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินในช่วงต้นเดือน ก.ค.ในขณะเดียวกันธนาคารกลางในประเทศต่างๆรวมถึงไทยทยอยปรับลดดอกเบี้ยส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติมีการปรับพอร์ตการลงทุน และทยอยขายทำกำไร ซึ่งมีการขายสุทธิตราสารหนี้ไทยตลอดไตรมาส 3/62

ดังนั้น จึงส่งผลให้ 9 เดือน เงินลงทุนต่างชาติในตราสารหนี้ลดลง 75,722 ล้านบาท โดยเป็นการลดลงในตราสารหนี้ภาครัฐระยะสั้น 126,105 ล้านบาท และ เพิ่มขึ้นในตราสารหนี้ภาครัฐระยะยาว 50,383 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าการลงทุนสะสมสุทธิต่างชาติในตราสารหนี้ไทย ณ สิ้นไตรมาส 3 อยู่ที่ 918,343 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 6.9% ของมูลค่ารวมตลาดตราสารหนี้ไทย

กรรมการผู้จัดการ ThaiBMA กล่าวว่า สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อวันที่ 29 ส.ค. นี้ โดย Bond Yild อายุ 5 ปี ให้ผลตอบแทน 1.34% และ 10 ปี อยู่ที่ 1.43%

ในส่วนของทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นในช่วงครึ่งหลังจะมีการปรับลดลงตามทิศทางอัตราดอกเบี้ย ที่คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในช่วงปลายปีนี้ หลังจากเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง และ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงจะเป็นแรงกดดัน

นอกจากนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว ซึ่งอยู่ในระดับต่ำที่สุดแล้ว มองว่ามีโอกาสปรับตัวลงได้อีกไม่มาก แต่มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นได้หากการเจรจาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากภาษีการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวมที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 20 ส.ค. ที่ผ่านมาภายใต้จำนวนตัวอย่างข้อมูลที่มีจำกัดพบว่า ตราสารหนี้ระยะสั้นมีมูลค่าการออกลดลงเฉลี่ย 70% ในช่วง 2 สัปดาห์แรกหลังจากการเก็บภาษี โดยมีมูลค่าการซื้อขายของต่อของกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น และ ระยะยาวลดลงกว่า 61% และ 33% ตามลำดับ

ในขณะเดียวกัน Credit space ภายหลังการเก็บภาษีของตราสารหนี้ภาคเอกชนมีการปรับเพิ่มขึ้น และ ลดลงขึ้นกับระดับความน่าเชื่อถือ และ อายุคงเหลือ โดยในภาพรวมปรับเพิ่มขึ้นในช่วง 0-20 bps


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ