นายปีเตอร์ แมนเดลสัน คณะกรรมาธิการการค้าแห่งสหภาพยุโรป (อียู) กล่าวย้ำว่า การที่จีนปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนแข็งค่าขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปนั้น จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในประเทศจีนเอง
"การทบทวนประเด็นที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจจะเป็นประโยชน์สำหรับจีนอย่างเห็นได้ชัด อาทิ กรณีค่าเงินหยวนซึ่งจีนควรประเมินค่าเงินหยวนใหม่ เพราะจะช่วยชะลอความร้อนแรงจากภาคการส่งออก และจะช่วยเพิ่มกำลังซื้อของผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น" นายแมนเดลสันกล่าว
เมื่อเดือนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ของยุโรปได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการปล่อยให้เงินหยวนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโรและเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของที่ประชุมจี-7 ที่ต้องการให้จีนปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนแข็งค่าขึ้นตามกลไกของตลาด
นอกจากนี้ นายแมนเดลสันยังได้เน้นย้ำถึงแนวโน้มการของการกำหนดมาตรฐานเศรษฐกิจระดับสูงและการซื้อขายตามกลไกของตลาด ซึ่งเจ้าหน้าที่จากอียูและจีนจะหารือกันในระหว่างการประชุมที่กรุงปักกิ่งทั้ง 3 วัน อย่างไรก็ตาม อียูเตือนว่า จีนต้องเปิดตลาดมากขึ้นเพื่อลดความขัดแย้งเรื่องนโยบายการค้าที่นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
"การเสียโอกาสทางการค้าของยุโรปดังที่เห็นได้จากภาวะขาดดุลการค้ากับจีนนั้นไม่ได้เป็นผลมาจากความล้มเหลวของยุโรปในตลาดจีน" นายแมนเดลสันกล่าว "บริษัทยุโรปหลายแห่งต่างแข่งขันกันอย่างดุเดือดในตลาดโลก ซึ่งพวกเขาได้รับโอกาสอย่างเป็นธรรม ขณะที่ในตลาดจีนนั้น การค้าและการลงทุนของยุโรปกลับถูกกีดกันด้วยข้อจำกัดที่ไม่เป็นธรรม ขณะที่สิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญาของเราซึ่งเป็นพื้นฐานของการแข่งขันในตลาดโลกก็ไม่ได้รับการปกป้องอย่างที่ควรจะเป็น"
"ในส่วนของแก้ปัญหาความไม่สมดุลทางการค้าระหว่างประเทศนั้น ทางอียูจะเรียกร้องให้มีการขจัดอุปสรรคเหล่านี้ และจะเพิ่มการส่งออกและการลงทุนด้านสินค้าและบริการมากขึ้นผ่านทางการให้ความร่วมมือบนพื้นฐานของข้อกำหนดด้านมาตรฐานการค้าระดับสูง"
สำนักข่าวซินหัว ไฟแนนซ์รายงานโดยอ้างคำกล่าวของอียูที่ระบุในแถลงการณ์ว่า อียูเริ่มมีความวิตกกังวลต่อตัวเลขขาดดุลการค้ากับจีนเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ยอดขาดดุลการค้าของยุโรปกับจีนปรับตัวสูงขึ้นจากระดับ 1.31 แสนล้านยูโรในปี 2549 มาอยู่ที่กว่า 1.70 แสนล้านยูโรเมื่อปี 2550 ซึ่งตัวเลขขาดดุลการค้าที่เพิ่มขึ้นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของภาคธุรกิจของอียูที่เข้าไปทำตลาดในจีนจะต้องหันมาพิจารณา
--อินโฟเควสท์ แปลและเรียบเรียงโดย อรษา สงค์พูล/สุนิตา โทร.0-2253-5050 ต่อ 315 อีเมล์: sunita@infoquest.co.th--